ไร่กล้วยกลางกรุง เลี่ยงภาษีที่ดินจริงหรือ?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันในโซเชียลมีเดียเมื่อมีการโพสต์ภาพเอกชนแห่ปลูกกล้วย ทำสวน บนที่ดินรกร้าง เนื่องจากปี 2565 เป็นปีแรกที่มีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเต็มอัตรา หลังจากลดหย่อนมา 2 ปีในช่วงโควิด-19 ทีมข่าวพีพีทีวีลงพื้นที่สำรวจที่ดินใจกลางย่านพระราม 9 พบมีหลายไร่ขุดบ่อน้ำ ปลูกกล้วย ปลูกยูคาลิปตัส บางที่นำวัวมาเลี้ยงเป็นสิบตัว แต่ไม่พบคนดูแล

จุดแรกที่ทีมข่าวพีพีทีวีลงพื้นที่สำรวจคือที่ดินติดสี่แยกใหญ่ ใจกลางพระราม 9 พบที่ดินเปล่าหลายสิบไร่อยู่ติดถนน มีการปลูกต้นกล้วยเต็มพื้นที่ แต่ปล่อยทิ้งจนหญ้าขึ้นสูงพอๆ กับต้นกล้วย และบางจุดต้นกล้วยปลูกมานานจนขึ้นสูงเบียดเสียดกัน ปักป้ายเขียนว่า “ที่ดินส่วนบุคคล” แต่ไม่พบคนดูแล

ทีมข่าวขับรถเลี้ยวเข้าซอยที่อยู่ไม่ห่างกันมาก ลึกจากถนนพระราม 9 เพียงประมาณ 500 เมตร พบที่ดินเปล่าผืนใหญ่อีกแห่ง ถูกปรับทำเกษตรกรรมอย่างจริงจัง

คนซื้อบ้านกังวลผลกระทบโควิดยืดเยื้อ "ชะลอแผน-ปรับลดงบ"ซื้อที่อยู่อาศัย

เตรียมพร้อม!“สลากดิจิทัล”80 บาท เปิดขายบนแอปฯเป๋าตังเริ่ม 2 มิ.ย. นี้

โดยมีการขุดบ่อน้ำ ปลูกต้นกล้วย มะพร้าว และยูคาลิปตัส ซึ่งนอกจากพืชผลไม้ที่ปลูกไว้ ยังมีฝูงวัวกว่า  10 ตัว อยู่ภายในแนวกั้นรั้ว แต่ไม่พบคนดูแลอีกเช่นกัน

ทีมข่าวพีพีทีวีตรวจสอบภาพถ่ายจากกูเกิ้ลสตรีทวิว พบว่าเมื่อต้นปี 2561 ที่ดินผืนนี้ยังเป็นที่รกร้าง จนกระทั่งเดือนตุลาคม 2561 จึงเริ่มปรับพื้นที่ และปลูกต้นกล้วยแปลงหลัง และเพิ่งจะมาปลูกต้นกล้วยเต็มพื้นที่ในปี 2562 ปีเดียวกับที่มีการแก้ไขกฎหมาย โดยออกเป็น พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562

ซึ่งเมื่อดูอัตราภาษีตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีการเก็บภาษีที่ดินเกษตรกรรมและที่ดินรกร้างในอัตราที่ต่างกัน โดยอัตราล่าสุดตาม พระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2564 ระบุอัตราภาษีสำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม อยู่ที่ร้อยละ 0.01 – 0.1 แต่หากเป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ถูกทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ อัตราภาษีจะอยู่ที่ร้อยละ 0.3 – 0.7 ต่างกันหลายเท่าตัว 

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส  สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มองว่า การที่เจ้าของที่ดินแห่ปลูกพืชผลไม้ในที่ดินเปล่า เพราะมีการกำหนดอัตราภาษีที่แตกต่างกันระหว่างที่ดิน 2 ประเภท ซึ่งการทำแบบนี้แม้จะเป็นวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย

เพราะ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี ลดความเหลื่อมล้ำ และถ้าย้อนดูข้อมูลการถือครองที่ดินของคนไทย ร้อยละ 75 ไม่มีที่ดิน มีเพียงร้อยละ 25 ที่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ในจำนวนนี้ ร้อยละ 20 ถือครองที่ดิน 20 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ มีแค่ร้อยละ 5 เท่านั้น ที่ถือครองที่ดิน 80 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ  ซึ่งเมื่อไม่สามารถเก็บภาษีที่ดินได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำให้เม็ดเงินที่จะนำไปแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำหายไป

นายนณริฏ มองว่า กฎหมายที่ออกมาค่อนข้างรัดกุมแล้ว เพราะมีการระบุพื้นที่ว่างเปล่าหมายรวมถึงพื้นที่ที่ “ไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ” ซึ่งส่วนตัวเสนอว่า หากต้องการแก้ไขปัญหาคนรวยหนีภาษี ควรตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดพิจารณาว่าพื้นที่มีการปลูกพืชผลทำเกษตรกรรมในแต่ละแห่งนั้น เป็นการทำประโยชน์ตามสมควรแก่สภาพหรือไม่ เพราะถ้าไม่ใช่ ก็เข้าข่ายต้องเสียภาษีตามอัตราเดียวกับพื้นที่ว่างเปล่า

นายนณริฏ มองว่า คนที่พยายามหลีกเลี่ยงภาษีโดยเอาพื้นที่เกษตรมาเป็นโอกาสในการลดหย่อนภาษี ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะได้รับมรดกจากครอบครัว แล้วไม่รู้จะพัฒนาที่ดินต่ออย่างไร แต่ปัญหาที่สำคัญกว่า และเป็นปัญหาระดับประเทศคือความเหลื่อมล้ำ

ดังนั้นคนที่อยู่ในเกณฑ์ต้องเสียภาษีก็ควรเสียอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยเฉพาะเมื่อภาครัฐกำหนดเพดานภาษีที่อยู่อาศัยไว้สูง ทำให้มีน้อยคนที่จะต้องเสียภาษีในส่วนนี้  ส่วนสำหรับคนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ หากต้องจ่ายภาษีในอัตราสูง ภาครัฐอาจเข้ามาช่วยเหลือได้ โดยออกนโยบายให้ผัดผ่อนไปก่อนแล้วเก็บข้อมูลไว้ ค่อยให้จ่ายทีเดียวเมื่อขายที่ดินได้ พร้อมกับค่าปรับตามอัตราที่กำหนด

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ