หลัง ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 เรื่อง ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นการปรับปรุงประกาศบอร์ด สปสช.ฉบับเดิม เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิในการรับบริการสาธารณสุข ว่าด้วยหลักประกันสุขภาพ โดยให้มีผลบังคับใช้ทันที
ดังนั้นแล้ว ‘สิทธิบัตรทอง 30 บาท’ ฉบับใหม่นี้ จะครอบคลุม และไม่ครอบคลุมบริการสาธารณสุขด้านใดลบ้าง ทีมข่าวนิวมีเดียพีพีทีวีได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
บัตรทองต้องรู้! อัปเดตสิทธิประโยชน์ผู้ป่วยปี 2565 รักษาฟรีที่ไหนบ้าง?
ราชกิจจาฯแพร่ประกาศ “สปสช.” ยกเลิกจ่ายค่ารักษาโควิด รพ.นอกระบบบัตรทอง
สิทธิบัตรทองครอบคลุมบริการที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต
- บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
- การตรวจวินิจฉัยโรค
- การตรวจและรับฝากครรภ์
- การบำกัด และการบริการทางการแพทย์
- ยา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์
- การทำคลอด
- การกินอยู่ในหน่วยบริการ
- การบริบาลทารกแรกเกิด
- บริการรถพยาบาล หรือบริการพาหนะรับส่งผู้ป่วย
- บริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพ
- การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ
- บริการสาธารณสุขด้านการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ
- บริการสาธารณสุขอื่นที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตที่บอร์ด สปสช. กำหนดเพิ่มเติม
- บำบัดรักษา ฟื้นฟูผู้ติดยาและสารเสพติด ยกเว้นการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด ที่มีกำหนดเกี่ยวกับการให้บริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
- บริการสาธารณสุขที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุการประสบภัยจากรถ ยกเว้นการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
- การรักษาโรคเดียวกันที่ต้องใช้ระยะเวลารักษาตัวในโรงพยาบาลประเภทผู้ป่วยใน
สิ่งที่ไม่ครอบคลุม เบิกไม่ได้
- เพื่อความสวยงาม โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
- การตรวจวินิจฉัย และการรักษาที่เกินความจำเป็นจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
- การรักษาที่อยู่ระหว่างการค้นคว้าทดลอง
- การปลูกถ่ายอวัยวะ ที่ไม่ปรากฎตามบัญชีแนบท้าย
- การบริการทางการแพทย์อื่น ตามที่บอร์ด สปสช. กำหนด
สำหรับสิทธิประโยชน์บัตรทองที่อัปเดตใหม่นี้ แตกต่างจากสิทธิประโยชน์ฉบับเดิม ตรงที่ไม่ครอบคลุมสิทธิประโยชน์รักษาภาวะมีบุตรยากและการผสมเทียม แต่ขยายครอบคลุมในการรักษาโรคที่ต้องใช้ระยะเวลารักษาตัวในโรงพยาบาลประเภทผู้ป่วยใน โดยไม่มีกำหนดเวลา ว่าต้องเกินกว่า 180 อีกแล้ว
การใช้สิทธิบัตรทองใหม่
ส่วนการใช้สิทธิบัตรทองใหม่ ประชาชนสามารถเข้ารักษาที่สถานพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้ได้ และกรณีมีความจำเป็นก็สามารถเข้ารักษาที่หน่วยบริการปฐมภูมิอื่น ๆ ได้ โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว และไม่ถูกเรียกเก็บเงินเหมือนเดิม
สำหรับ หน่วยบริการปฐมภูมิ นั้น คือ บริการสุขภาพด่านแรกขอระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งมีบทบาทในการดูแลสุขภาพประชาชนในท้องถิ่น โดยเน้นการป้องกันไม่ให้ป่วย หากเจ็บป่วยจะได้รับการดูแลรักษาเบื้องต้น และครอบคลุมในกรณีที่จำเป็นจะต้องส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลที่รักษาโรคซับซ้อนมากขึ้น ทั้งนี้รวมถึงบริการฟื้นฟูสุขภาพด้วย
ยกตัวอย่างเช่น สถานีอนามัย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.), หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล, ศูนย์สุขภาพชุมชน, ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 69 แห่ง คลินิกเอกชนในระบบบัตรทอง และคลินิกอบอุ่น เป็นต้น
โดยใช้สิทธิบัตรทองได้ดังนี้
1. ติดต่อที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่เข้ารับการรักษา
2. แจ้งความจำนงใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพก่อนรับบริการ
3. แสดงบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวที่มีรูปถ่ายที่ทางราชการออกให้ สำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี แสดงสำเนาสูติบัตร (ใบเกิด)
ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทรสายด่วน สปสช.ได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nsho