กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ วันอังคาร ที่ 4 ต.ค. 2565 เวลา 07.00 น. ถึง วันพุธ ที่ 5 ต.ค. 2565 เวลา 07.00 น. ไม่พบพื้นที่ที่มีฝนตกหนัก
ด้าน กรุงเทพมหานคร ได้เฝ้าระวัง สถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงวันที่ 5-13 ต.ค. 2565 เนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น รวมทั้งมีการระบายน้ำ บริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา
น้ำทะเลหนุนสูง 5-13 ต.ค. 65 เตือน ริมน้ำเจ้าพระยาเฝ้าระวัง
พยากรณ์อากาศ ช่วง 4-13 ต.ค. นี้ ยังมีฝนตกต่อเนื่อง
อาจทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา "เพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ" โดยระดับน้ำจะมีความสูงประมาณ 1.70 - 2.00 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย รายงานจากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคเหนือด้านตะวันตก ขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ประกอบกับผลกระทบจากพายุโนรู ทำให้เกิดสถานการณ์ภัยในพื้นที่ 28 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย เพชรบูรณ์ ตาก พิจิตร อุตรดิตถ์ น่าน แพร่ นครสวรรค์ อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร อุบลราชธานี ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ เลย ชัยภูมิ มุกดาหาร กาญจนบุรี สระบุรี สระแก้ว ปราจีนบุรี และพังงา รวม 128 อำเภอ 368 ตำบล 1,276 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 23,339 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 3 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย
ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 18 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เพชรบูรณ์ พิจิตร ตาก อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ น่าน แพร่ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ขอนแก่น เลย ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ กาญจนบุรี และปราจีนบุรี รวม 92 อำเภอ 281 ตำบล 1,083 หมู่บ้าน
ขณะที่น้ำล้นตลิ่งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยังคงมีสถานการณ์ 5 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ปทุมธานี สิงห์บุรี และชัยนาท รวม 20 อำเภอ 158 ตำบล 745 หมู่บ้าน ประสานพื้นที่เร่งสำรวจความเสียหายและให้ช่วยเหลือประชาชน