ความคืบหน้ากรณีที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาแฉ “ขบวนการอุ้มท้องซื้อพ่อ” หนึ่งในวิธีการที่คู่สามีภรรยาที่เป็นกลุ่มนายทุนจีนสีเทา ใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทย ด้วยการว่าจ้างชายไทยรับเป็นพ่อให้กับหญิงชาวจีนที่ตั้งครรภ์ เพื่อที่จะให้ลูกของตัวเองแจ้งเกิดเป็นสัญชาติไทย ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องไปถึงการครอบครองทรัพย์สิน ที่ดินและธุรกิจในไทย โดยไม่จำเป็นต้องใช้คนไทยเป็นนอมินีในอนาคต
แฉ! ขบวนการ"อุ้มท้องซื้อพ่อ"ในภาคเหนือ
เปิดที่มา “ทุนจีนสีเทา” เลือกไทยเป็นฐาน
ล่าสุด นายบุญญฤทธิ์ นิปวณิชย์ ปลัดอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ประธานสหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย หรือ ส.ปอ.ท. ให้สัมภาษณ์กับ PPTV ระบุว่าข้อมูลของนายชูวิทย์ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนอย่างจังหวัดเชียงใหม่ ที่ตัวเองรับราชการมานานกว่า 26 ปี และก่อนหน้านี้กลุ่มที่ใช้วิธีนี้ก็ก็ไม่ใช่แค่กลุ่มชาวจีนที่ต้องการเข้ามาทำธุรกิจในไทย แต่เป็นกลุ่มคนต่างด้าวหรือผู้อพยพ ที่ต้องการได้สัญชาติไทยให้ลูกเพื่อประโยชน์ในการทำมาหากินในประเทศไทย
โดยมักจะใช้วิธีว่าจ้างชายไทยจดทะเบียนเป็นพ่อให้กับเด็กที่เกิดขึ้นมาโดยเฉพาะกลุ่มต่างด้าวที่มีฐานะ คนจีนที่ข้ามเข้ามาธุรกิจในไทย ส่วนชายไทยที่รับว่าจ้างบางคนก็รู้จักกันเป็นคนในหมู่บ้านเดียวกัน บางคนเป็นลูกน้อง เป็นคนที่มีพระคุณต่อกันก็ช่วยเหลือกัน นอกจากนั้นคือกลุ่มที่จงใจจะรับเงินเพื่อสวมเป็นพ่อ
โดยจากกรณีที่จับได้ ขณะรับผิดชอบพื้นที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พบหญิงต่างด้าวมาแจ้งเกิดบุตร ที่เกิดในโรงพยาบาลในพื้นที่ พร้อมกับชายไทย แต่เจ้าหน้าที่สังเกตเห็นความผิดปกติ ทั้งฝ่ายชายและหญิงไม่มีความสัมพันธ์อะไรที่ดูเกี่ยวเนื่องกันในฐานะสามีภรรยาเลย จึงสอบสวนและเรียกขอหลักฐานเพิ่มเติม จนสุดท้ายพบว่า เป็นการว่าจ้างชายไทย มาสวมเป็นพ่อเด็กในราคาแค่ 5,000 – 10,000 บาทเท่านั้น กรณีดังกล่าวจึงไม่ดำเนินการให้ และให้นำพ่อเด็กตัวจริงมาแสดงตัวก็พบว่าเป็นชายต่างด้าวที่ต้องการสัญชาติไทยให้ลูก
ปลัดบุญญฤทธิ์ บอกว่า ขั้นตอนการแจ้งเกิด ยอมรับว่าส่วนใหญ่ทางอำเภอก็จะทำไปตามหลักฐานที่โรงพยาบาลส่งมาว่าใครเป็นพ่อแม่มาเด็ก ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้มีการระบุชื่อพ่อเด็กมาด้วยซ้ำ เมื่อมาแจ้งเกิดจึงต้องใช้วิธีการสังเกต หากพบความผิดปกติก็สอบสวนเพิ่มเติม แต่เชื่อว่ามีหลุดรอดอยู่แล้ว ซึ่งส่วนตัวมองว่านี่ไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ แต่เป็นเรื่องของความมั่นคง ที่จะส่งผลกระทบต่อคนไทยในอนาคต เป็นเรื่องของการขายชาติ
ส่วนชายไทยที่รับทำสวมเป็นพ่อของเด็กก็อยากจะให้คิดถึงผลทางกฎหมายที่จะตามมา เพราะไม่ใช่แค่การแจ้งข้อมูลเท็จต่อเจ้าพนักงาน แต่หากตัวเองมีทรัพย์สินหรือ มีมรดก หรือที่ดินในอนาคตที่ต้องให้ทายาท แม้เด็กที่รับรองจะเป็นบุตรนอกสมรสก็มีสิทธิในทรัพย์สินนั้นด้วย รวมถึงกรณีหากเด็กเป็นวัยรุ่นแล้วไปกระทำผิด ในฐานะพ่อตามกฎหมายก็อาจต้องรับผิดชอบด้วย
นอกจากการ “แจ้งเกิด” อีกประเด็นที่ประธานสหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ PPTV คือการ “แจ้งตาย” กรณีนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการจับและดำเนินคดีกันมานานแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดน ที่จะมีนายหน้าไปติดต่อชาวบ้านตามหมู่บ้านโดยเฉพาะที่ห่างไกลว่าหากคนในครอบครัวเสียชีวิต ให้ดำเนินพิธีกรรมทางศาสนาไปตามปกติ แต่ไม่ต้องไปแจ้งตาย แล้วขอซื้อเอกสารหลักฐานที่แสดงตัวตนเป็นคนไทย เพื่อนำมาใช้สวมสิทธิ สวมบัตรประชาชนของคนตาย
กรณีที่ตัวเองจับได้อยู่ที่อำเภออมก๋อย เป็นหญิงคนหนึ่งที่มาติดต่อขอต่อบัตรประชาชนที่เชียงใหม่ แต่จากรายชื่อและที่อยู่กับสภาพการแต่งกายหรือคำพูด สังเกตดูแล้วไม่เหมือนคนในพื้นที่ตามบัตรประชาชน ที่ใช้จึงสอบสวนจนพบว่ามีการสวมบัตร แต่กรณีนี้ช่วงหลังฝ่ายปกครองก็พยายามที่จะอุดช่องโหว่ด้วยการใช้ระบบการยืนยันตัวตนเข้ามาตรวจสอบ