รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อ.อ๊อด อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐหรือ CHES (เชส) ซึ่งก่อนหน้านี้เคยตรวจสอบกรณีวุฒิปริญญาเอกปลอม ระบุถึงกรณีดราม่านักวิชาการชาวไทยถูกแฉเข้าไปซื้องานวิจัยของชาวต่างชาติ ในเว็บไซต์ที่เปิดซื้อขายกันในราคาหลักหมื่นบาท เพื่อสร้างผลงานให้ตัวเองและบางส่วนก็พบว่ามีการนำมายื่นขอรางวัลหรือเงินสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยด้วย
แฉ!ช้อปปิ้งงานวิจัย จ่ายครบ เคลมเป็นงานตัวเอง
เริ่มแล้ว! ตัดแต้มใบขับขี่ เช็ก 2 ช่องทางตรวจสอบคะแนน
อ.อ๊อด บอกว่ากรณีนี้ถือเป็นดราม่าในแวดวงนักวิชาการ ที่เคยถกเถียงกันเรื่องข้อกำหนดมหาวิทยาลัยที่บังคับให้อาจารย์แต่ละคนต้องทำงานวิจัยออกมาว่าจำเป็นแค่ไหน จนกระทั่งเกิดกรณีการซื้องานวิจัยเพื่อสร้างผลงานให้ตัวเอง โดยต้นทางผู้แฉเรื่อง จริงๆแล้วเป็นนักรีวิวงานวิจัยชาวต่างชาติ ที่ไปพบความผิดปกติของงานวิจัยหลายชิ้น ซึ่งมีนักวิชาการ หรืออาจารย์ที่มีรายชื่อร่วมวิจัยมาจากผู้เชี่ยวชาญคนละด้านกันและมาจากหลายประเทศ แบบไม่สมเหตุสมผล และหนึ่งในนั้นคือชื่อของ “นักวิชาการชาวไทย” และต่อมาก็พบว่ามีแหล่งซื้อขายงานวิจัยกัน โดยคิดราคาเป็นเรต มีรายชื่ออยู่ในลำดับต้นๆก็ราคาสูง ถัดลงมาก็ถูกลง
อ.อ๊อด ระบุว่าจากการตรวจสอบตอนนี้พบมีนักวิชาการไทยอย่างน้อย 6 คน ที่เข้าข่ายซื้องานวิจัย รายหนึ่งอยู่ในมหาวิทยาลัยชื่อดังในจังหวัดเชียงใหม่ อีกรายอยู่ในสถาบันวิจัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และที่เหลือเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเอกชนในกรุงเทพฯ พฤติกรรมคือเป็นนักวิชาการทางด้านสาธารณสุข มีจำนวนงานวิจัยสูงอย่างผิดปกติ ปีละ 90 งาน มากกว่านักวิจัยรางวัลที่มีงานวิจัยสูงสุดในไทยถึง 9 เท่า ที่สำคัญคือหัวข้อที่วิจัยแตกต่างจากความเชี่ยวชาญของตัวเอง เช่นเคมี การเกษตร วิศวกรรม ผลิตภัณฑ์นาโน
เมื่อถามว่าจุดประสงค์และประโยชน์ที่ได้จากการซื้องานวิจัยมีอะไรบ้าง อ.อ๊อด อธิบายว่าอาจารย์กลุ่มนี้จะนำผลงานวิจัยไปสร้างผลงานให้ตัวเองให้ดูมีความน่าเชื่อถือ นำไปรับรางวัลจากมหาวิทยาลัยหรือภาควิชาที่สนับสนุนอาจารย์ที่มีผลงานวิจัย บางครั้งนำไปขอทุนสนับสนุนงานวิจัยด้วย
ยกตัวอย่างเช่น หนึ่งในกลุ่มที่พบข้อมูลลงทุนซื้องานวิจัยชาวต่างชาติ โดยให้นำชื่อตัวเองเข้าไปในผลงานว่าเป็นผู้ร่วมทำงานวิจัย 30,000 บาท แต่สามารถนำมาขอรับเงินสนับสนุนได้ถึง 120,000 บาท ก็ถือว่าได้กำไรมากกว่าเท่าตัว แถมยังได้ผลงานเป็นโปรไฟล์ที่จะนำไปใช้ต่อยอด สร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเองได้อีก
อ.อ๊อด ยังบอกอีกว่าดราม่านี้ มีนักวิชาการออกมาแสดงความเห็นจำนวนมากและต่างให้ข้อมูลที่ตรงกัน ซึ่งหลังจากนี้เชื่อว่าเจ้าของงานวิจัยตัวจริงที่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งนำงานมาขายเรียกเงินจากนักวิชาการที่อยากได้ผลงาน ด้วยการใส่ชื่อว่าร่วมวิจัย น่าจะถูกถอดงานวิจัยออกจากวารสารวิชาการที่เผยแพร่และอาจมีบทลงโทษในการขึ้นประวัติ เช่นเดียวกับกรณีที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
ส่วนนักวิชาการไทย ที่ซื้องานวิจัยเหล่านี้ก็ต้องรอบทลงโทษจากทางมหาวิทยาลัยและสถาบันต้นสังกัดของแต่ละคน ซึ่งเชื่อว่าถ้าสืบหลักฐานจริงจังก็สามารถจับได้ไม่ยาก เพราะไม่ได้เดินทางไปร่วมวิจัยจริงๆ และเชื่อว่าไม่มีความสัมพันธ์อะไรกับเจ้าของผลงานหรือผู้มีรายชื่อคนอื่นส่วนศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ในฐานะเลขาฯ ก็อยู่ระหว่างหารือ เพราะเชื่อว่ามีนักวิชาการที่ทำลักษณะนี้อีกหลายคน.