นายเสถียร เสถียรธรรมะ ประธานกรรมการบริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด ชี้แจงกับทีมข่าวพีพีทีวี กรณีที่มีพาร์ทเนอร์ที่ร่วมกับธุรกิจกับบริษัท เพื่อเปิดร้านขายของชำ ภายใต้ชื่อ ร้านถูกดีมีมาตรฐานบางรายอ้างว่าถูกบริษัทเอาเปรียบ และให้ทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งมีพาร์ทเนอร์บางรายเปิดคลิปวงจรปิดเครื่องคอมขายสินค้าทำงานเอง
โดยบอกว่าขณะนี้มีร้านค้าที่เป็นพาร์ทเนอร์ประมาณ 5,000 ร้านแต่มีประมาณ 200 ร้านที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาพบว่าเป็นร้านค้าที่ไม่ยอมส่งเงินจากการขายสินค้าให้กับบริษัทและนำเงินไปหมุนชำระหนี้นอกระบบ
โผล่อีก! เครื่องคิดเงินทำงานเองโยงของหาย
เจ้าของร้านชำงง! คอมฯเปิดระบบขายของเอง-บริษัทอ้างจิ้งจกเดิน
ขณะที่บางร้านไม่ขายของผ่านระบบ ทำให้ตรวจสอบยอดไม่ตรงกับจำนวนสินค้า ซึ่งร้านส่วนใหญ่ก็ยอมรับสภาพ จนต้องให้ปิดกิจการ แต่มีประมาณ 6 ราย ที่มีปัญหาทำผิดสัญญาแต่ไม่ยอมให้ทางบริษัทเข้าไปดำเนินการ และมีออกมาสร้างกระแสจนบริษัทเสียหาย
ส่วนประเด็น ที่มีเจ้าของร้านรายหนึ่งออกมาเผยแพร่ภาพวงจรปิด ที่เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการขายสินค้าในร้านทำงานเอง นายเสถียร ชี้แจงว่า พาร์ทเนอร์รายดังกล่าวไม่เคยแจ้งข้อมูลกับบริษัท จากการตรวจสอบกล้องวงปิดในร้าน พบว่า มีจิ้งจกขนาดใหญ่ เข้ามาเล่นแสงที่หน้าจอ ซึ่งเป็นระบบสัมผัส ทำให้เครื่องทำงานเอง ถึงแม้ว่าเครื่องจะทำงานสำเร็จแต่ของก็ไม่ได้ถูกนำออกจากร้าน ไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น แต่ร้านกลับกล่าวหาว่า บริษัทสร้างยอดปลอมเพื่อที่จะโกง
ซึ่งเมื่อบริษัทตรวจสอบย้อนกลับไป พบว่าพาร์ทเนอร์รายดังกล่าว ค้างเงินทางบริษัทกว่าแสนบาท
ส่วนกรณีที่ พาร์ทเนอร์ อ้างว่า ทางบริษัททำสัญญาไม่เป็นธรรมโดยไม่ให้อ่านสัญญาก่อนเซ็น นายเสถียร ชี้แจงว่า การทำธุรกิจ ไม่มีทางที่จะเกิดกรณีเช่นนั้นขึ้น เพราะบริษัทจะชี้แจงรายละเอียดก่อนทุกครั้ง หรือบางกรณีก็ให้พาร์ทเนอร์ กลับไปตัดสินใจแล้วค่อยกลับมาเซ็น
ขณะที่เรื่องส่วนแบ่งจากการขายสินค้าที่ตกลงไว้ตามสัญญา เมื่อร้านนำเงินส่งให้กับบริษัทในวันถัดไป บริษัทจะสรุปยอด คืนให้ในทุกสิ้นเดือน โดยให้ส่วนแบ่ง ร้านค้า 85% และบริษัท 15 % ยืนยันว่า จะไม่มีการหักค่าดำเนินการหรือหักเงินเพิ่มเติมจากส่วนแบ่งของร้านค้า แต่จะหักจากส่วนแบ่งของบริษัท เพื่อนำมาเป็นค่าดำเนินการและค่าระบบ
นายเสถียร ยืนยันว่า บริษัทมีระบบตรวจสอบรัดกุม เพราะหากระบบไม่ดี ไม่ใช่เฉพาะความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับร้านค้า แต่หมายถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทด้วย โดยการลงทุนเปิดร้าน สินค้า อุปกรณ์ในร้าน จะเป็นทรัพย์สินของบริษัท ที่ลงทุนให้ มูลค่า 1 ล้านบาท พาร์ทเนอร์ใช้เพียงเงินค้ำประกัน 2 แสนบาท เพื่อใช้ในการเปิดร้าน หรือบางรายบริษัทก็มีการติดต่อธนาคารมาปล่อยสินเชื่อให้ เมื่อร้านไม่สามารถทำตามสัญญาได้ ก็ต้องคืนสินค้าและอุปกรณ์ในร้าน ให้กับบริษัท โดยบริษัท พร้อมเปิดโอกาสให้พาร์ทเนอร์ที่มีปัญหา มาไกล่เกลี่ย เจรจาเพื่อหาทางออก