ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจตลาดสดเทศบาลตำบลบ่อพลอย อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด พบว่า บรรยากาศการซื้อขายสินค้าทั้งของสด เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว และของแห้งต่าง ๆ ยังคงดำเนินไปตามปกติ แม้จะมีข่าวการนำเนื้อตัวเงินตัวทองมาจำหน่ายในพื้นที่ แต่เบื้องต้นไม่พบการนำเนื้อตัวเงินตัวทองมาวางขายที่ตลาดสดเทศบาลตำบลบ่อไร่แต่อย่างใด
นายสุพิศ เตียงไธสงค์ พ่อค้าเนื้อหมู และกรรมการตลาดสดเทศบาลบ่อพลอย พูดถึงเรื่องนี้ว่า ตลาดสดเทศบาลตำบลบ่อพลอย ไม่เคยมีประวัติหรือพ่อค้าแม่ค้าที่นำเนื้อตัวเงินตัวทองมาขายในตลาดเลย
ขณะที่ประชาชนในพื้นที่อำเภอบ่อไร่ ส่วนใหญ่บริโภคเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ รวมไปถึงของป่า ก็ไม่มีใครนำมาขายในตลาดสดเทศบาล เพราะผิดกฎหมาย ส่วนตลาดนัดในพื้นที่ต่างๆ ที่จะนำเนื้อตัวเงินตัวทอง รวมไปถึงของป่ามาวางขาย ส่วนตัวไม่แน่ใจว่ามีหรือไม่
สำหรับพื้นที่จังหวัดตราดติดกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา นายชู พ่อค้าผักชาวกัมพูชา ที่นำผักมาวางขายในพื้นที่เขตเทศบาลตำบลบ่อพลอย ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า ชาวกัมพูชา รู้จักตัวเงินตัวทอง แต่หากถามถึงความนิยมในการบริโภค ส่วนใหญ่ชาวกัมพูชาไม่นิยมเหมือนกัน
ด้าน รองศาสตราจารย์ วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อาจารย์อ๊อด ออกมาแสดงความคิดเห็นด้วยว่า แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ประกอบการจะนำเนื้อตัวเงินตัวทองมาทำลูกชิ้นหรือผสมทำลูกชิ้น เพราะมีเนื้อน้อย และยิ่งบอกว่านำหนังไปทอดกรอบ ตามที่คนในโซเซียลแห่แชร์ ยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะหนังแพงมาก รวมถึงหนาและเหนียวอีก
สำหรับ ตัวเงินตัวทอง เมื่อโตเต็มไวจะมีขนาดถึง 2 เมตร ถึง 3 เมตรครึ่ง เป็นขนาดที่เหมาะที่สุดสำหรับการจำหน่าย มีน้ำหนักโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 30 กิโลกรัม ตัวใหญ่สุดสามารถมีน้ำหนักได้ถึง 100 กิโลกรัม ออกไข่ปีละครั้ง ครั้งละประมาณ 30 ถึง 40 ฟอง อายุยืนถึง 30 ปี
ในประเทศแถบยุโรป นิยมนำหนังตัวเงินตัวทองไปผลิตรองเท้า และกระเป๋า เพราะมีลวดลายที่สวยงาม แต่มีราคาสูงมาก ขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้นี้นิยมนำเนื้อไปรับประทาน มีข้อมูลว่าประเทศอิตาลีเป็นตลาดที่มีการค้าขายและนำเข้าตัวเงินตัวทองมากถึงปีละ 1 ล้านตัว สำหรับธุรกิจเครื่องหนัง ส่วนมากจะนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย
ในประเทศไทยเคยมีการเสนอให้ถอดตัวเงินตัวทองออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง เพื่อให้สามารถเพาะเลี้ยงให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ โดย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้ริเริ่มทำโครงการวิจัยการเลี้ยงและใช้ประโยชน์ตัวเงินตัวทองในเชิงเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปี 2554 เป็นฟาร์มแห่งแรกในประเทศไทย แต่ปัจจุบันได้ยุติโครงการไปแล้ว
แต่ในปี 2564 นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ ได้เสนอเรื่องนี้เข้าสภาฯอีก โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตอบกระทู้นี้บอกจะนำเรื่องนี้ไปพิจารณา และต้องทำการศึกษาวิจัยก่อน
จนถึงปัจจุบัน ตัวเงินตัวทองมีสถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และยังติดอยู่กับข้อตกลงอนุสัญญาไซเตส หรือ อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์
ในเรื่องการศึกษาเพื่อการแพทย์และเพื่อประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ ยังคงติดข้อจำกัดนี้ อย่างไรก็ตามยังห้ามเลี้ยง ซื้อ ขาย หรือครอบครอง หากต้องการ ต้องได้รับอนุญาตเพาะเลี้ยงจากกรมอุทยานฯ เท่านั้น หากฝ่าฝืนมีความผิด มีโทษจำคุก 4 ปี และโทษปรับ 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ