เจ้าของแผงทุเรียน ยัน ไม่เคยส่งขาย "ล้ง"

โดย PPTV Online

เผยแพร่

กลายเป็นมหากาพย์ กรณีศุลกากรตรวจยึดทุเรียน 8 ตัน ที่จังหวัดสระแก้ว ซึ่งตอนหลังมีตัวแทนจากฝั่งเจ้าของล้งออกมาร้องตรวจสอบ ว่าการจับกุมถูกต้อง โปร่งใสหรือไม่ พร้อมทั้งยืนยันว่าทุเรียนที่ถูกยึดไม่ใช่ของเถื่อน แต่รับซื้อมาจาก จ.ศรีสะเกษ แต่พอตรวจสอบกลับพบข้อมูลไม่ตรงกัน เพราะทางเจ้าของสวนปฏิเสธว่า ทุเรียนดังกล่าว ไม่ได้มาจากสวนใน จ.ศรีสะเกษ ทำให้จนเกิดคำถามย้อนกลับไปฝ่ายเจ้าของทุเรียนว่า ตกลงแล้ว ข้อเท็จจริงเป็นยังไงกันแน่

คนที่ออกมาร้องเรียนเรื่องนี้ คือ นายอัมรินทร์ ยี่เฮง เครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดสระแก้ว โดยแจ้งว่าเป็นตัวแทนผู้ประกอบการ เจ้าของทุเรียนที่ถูกตรวจยึด แต่ที่ผ่านมามี นายอัมรินทร์ ได้ออกมาตั้งข้อสงสัยในหลายประเด็น และบางประเด็นก็มีความขัดแย้งกับทางเจ้าหน้าที่ศุลกากร

วันนี้ 28 มิ.ย. 2566 ทีมข่าวได้ ติดต่อ นายอัมรินทร์ เพื่อสอบถามประเด็นต่างๆ ที่ยังคงถูกต้องข้อสงสัย โดยเฉพาะเรื่องเจ้าของทุเรียนว่าความจริงแล้วเป็นใครกันแน่

ไม่จบ! ตัวแทนล้ง แฉพิรุธจับทุเรียนเถื่อน

กรมศุลฯ ชี้แจง จับทุเรียนลักลอบนำเข้า เจ้าของสารภาพเองรับซื้อจากชาวกัมพูชา

เพราะหากดูจากใบบันทึกการจับกุม ที่ “นายอัมรินทร์” นำมาเผยแพร่บนเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวานนี้จะเห็นว่า ทั้งสองฉบับระบุชื่อของเจ้าของทุเรียนไม่เหมือนกัน ฉบับแรก มีชื่อของ “นายณัฐพร” แสดงตัวเป็นเจ้าของทุเรียน แต่อีกฉบับ กลับเป็นชื่อของ นางสาวอภิชญา แสดงตัวเป็นเจ้าของทุเรียน

และนอกจากทั้งสองคนแล้ว ก่อนหน้านี้ก็ยังมีชายอีกคนหนึ่ง ชื่อว่า นายนภดล ออกมาแสดงตัวกับผู้สื่อข่าว และระบุว่าเขา เป็นเจ้าของเงินทุนที่นำไปซื้อทุเรียนดังกล่าว  จึงทำให้มีคนออกมาแสดงตัวว่าเป็นเจ้าของทุเรียนถึง 3 คน คือ นายณัฐพร นางสาวอภิชา และ นายนภดล  

ซึ่งประเด็นนี้ นายอัมรินทร์ ยืนยันว่า ทุเรียนที่ถูกตรวจยึดมีเจ้าของจริง และมีเพียงคนเดียวเท่านั้น ส่วนคนที่ไปแสดงตัวเป็นเจ้าของทั้ง 3 คนนั้น ได้รับหนังสือมอบอำนาจไปแสดงเป็นตัวแทนเจ้าของตัวจริง เพื่อจะให้ศุลกากรออกมาบอกว่าจะทำอะไรกับทุเรียนบ้าง เช่น ทำลายหรือจำหน่ายจ่ายแจก  แต่ทางศุลภากรก็ยังไม่มีการมาขออนุญาตอะไรกับทางเจ้าของเลย 

ส่วนทุเรียนที่ถูกตรวจยึดไปทั้งหมด 8 ตันนั้น นายอัมรินทร์ ยังคงยืนยันว่า ไม่ใช่ทุเรียนเถื่อน แต่เป็นทุเรียนที่กว้านซื้อมาจากสวนใน จ.ศรีสะเกษ จริงๆ แต่ซื้อมาจากหลาย ๆสวน และสาเหตุที่คนขับยอมรับสารภาพ เพราะถูกเกลี้ยกล่อมและขู่จากเจ้าหน้าที่ ไม่ได้สมัครใจรับสารภาพ

ส่วนหลักฐานสำเนาใบ GAP ที่กรมศุลภากรอ้างว่าพบในรถบรรทุกคันดังกล่าวนั้น นายอัมรินทร์ บอกว่า เจ้าของก็ไม่ทราบว่ามาจากไหน และอ้างว่า เจ้าหน้าที่ศุลภากรเป็นคนเอามา

 เมื่อทีมข่าวถามว่า ทางเจ้าของทุเรียนมีเอกสารยืนยันหรือไม่ว่า ซื้อทุเรียนมาจากที่ไหนบาง “นายอัมรินทร์” ตอบว่า อยู่ระหว่างรวบรวมพยาน เป็นเจ้าของสวนที่ซื้อมา พร้อมทั้งใบเสร็จการซื้อ-ขาย ซึ่งจะมอบให้ทนายความดำเนินการ แต่ยังไม่ขอเปิดเผยผ่านสื่อ 

จากข้อมูลที่ “นายอัมรินทร์” บอกว่ามีการติดต่อซื้อทุเรียนจากหลายสวนนั้น  แต่เพื่อความชัดเจน วันนี้ทีมข่าวได้ลองสำรวจสวน และร้านทุเรียนรายย่อย ในจังหวัดศรีสะเกษ ว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีการเข้ามากว้านซื้อทุเรียนจากรายย่อย โดยไม่ผ่านเจ้าของสวน ทีมข่าวลงพื้นที่ริมถนนสาย 24 แยกบ้านซำตารมย์ พบว่ามีแผงขายทุเรียนตรงจุดนี้อยู่หลายเจ้า

พ่อค้าแม่ค้าบอกว่า ทุเรียนที่นำมาวางขาย ก็เป็นจากสวนของตัวเอง ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว ที่ขับรถผ่านไปมา บางคนก็ซื้อแล้วกินเลย แต่บางคนถ้าชิมแล้วถูกใจก็ซื้อติดรถกลับไป แต่ก็ไม่มาก ส่วนประเด็นเรื่องมากว้านซื้อจำนวนเยอะๆ นั้นไม่มี ปกติพ่อค้าคนกลาง หรือ ล้ง จะไม่ได้มาถามซื้อจากแผงข้างทาง เพราะทุเรียนที่เอามาขายแบบนี้จะเป็นทุเรียนที่สุกแล้ว แต่ทุเรียนที่พ่อค้าคนกลาง และ ล้งซื้อ ส่วนใหญ่เป็นทุเรียนที่ยังไม่สุก เพราะต้องใช้เวลาในการขนส่ง  หากซื้อสุกไป พอส่งไปขายเนื้อทุเรียนก็อาจจะเละได้

ขณะที่เจ้าของแผงอีกคนหนึ่ง บอกว่า ตั้งแต่มาเปิดแผงขายทุเรียนข้างทางมา ยังไม่เคยมีใครมาติดต่อขอซื้อทุเรียนไปขายส่งต่อให้ล้งเลยเพราะล้งส่วนใหญ่จะติดต่อไปที่สวนโดยตรง ไม่มาซื้อข้างทางไปขายส่ง 

การซื้อขายทุเรียนให้กับล้ง ก็จะมีพ่อค้าคนกลาง หรือนายหน้า เข้ามาตกลงราคากับเจ้าของสวย เพื่อทำสัญญาการซื้อขาย โดยพ่อค้าก็จะขอใบ GAP และ GI จากทางสวนเพื่อการันตี ดังนั้น กระแสข่าวที่ว่ามีการมากว้านซื้อทุเรียน โดยไม่มีเอกสาร จึงไม่น่าเป็นไปได้ เพราะปกติพ่อค้าคนกลาง และ ล้ง ก็จะไม่มาซื้อทุเรียนตามแผงแบบนี้ เพราะราคาขายส่งกับขายหน้าแผงแตกต่างกัน ซึ่งราคาหน้าแผงก็จะสูงกว่า

ที่นี้ข้อสงสัยที่ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการมากว้านซื้อทุเรียนจากหลายๆ เจ้าแล้วเอาไปรวมกัน ตามที่มีการกล่าวอ้างนั้น นายภัทรศาสน์ มาสกุล นายกสมาพันธ์ทุเรียนแปลงใหญ่ภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ข้อมูลว่า โดยปกติ ไม่มีใครรวบรวมซื้อทุเรียนดิบมากองไว้เพื่อรอขายให้กับพ่อค้าคนกลาง หรือ ล้งแน่นอน

คอนเทนต์สำหรับคุณ

เนื้อหาคัดสรรคุณภาพ

เนื้อหาสนับสนุน By Bluedot
เนื้อหาสนับสนุน By Bluedot

แต่หากมีการซื้อจากสวน ในการจะส่งออกขาย ก็จะต้องมีเอกสาร GI และ GAP กำกับ ซึ่งตรงนี้หากเป็นของเกษตรกรในจังหวัดศรีสะเกษจริงก็จะต้องตรวจสอบย้อนกลับมาได้ 

ทีมข่าวได้สอบถามไปทาง นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เกี่ยวกับการดำเนินการกรณีนี้  ทางอธิบดีฯ ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่มีเอกสารหลักฐานทุกอย่างครบ และเอกสารทั้งหมดก็อยู่ในสำนวนคดีของตำรวจเรียบร้อยแล้ว ซึ่งพนักงานสอบสวนก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

โดยสิ่งสำคัญคือ เอกสารที่ล้ง อ้างว่าซื้อมาจากสวนในจังหวัดศรีสะเกษ  แต่ทางเจ้าของสวนทุเรียนก็ออกมายืนยันเองแล้วว่า เป็นทุเรียนเถื่อน ไม่ได้มาจากสวนของเกษตรกร ตามที่ปรากฎชื่อในสำเนาใบรับรองมาตรฐานสินค้า หรือ ใบ GAP ที่พบในรถบรรทุกทุเรียนคันที่ถูกจับ คาดว่าจะเกิดการสวมสิทธิใบรับรอง GAP เพื่อแอบอ้างเป็นทุเรียนภูเขาไฟที่มีราคาสูง แล้วลักลอบนำเข้ามาขาย.

Bottom-VNL2025 Bottom-VNL2025

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ