วันที่ 3 กันยายน ภาคเอกชนจัดเสวนา “ฝากการบ้าน ครม. เศรษฐา 1” โดยนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย มองคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ในรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน คือความคาดหวังที่สูง เนื่องจากประเทศอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจต้องการฃฟื้นตัว จากวิกฤตโควิดและวิกฤตเศรษฐกิจโลก และปัญหาหนี้ครัวเรือน เงินในมือของประชาชนขาดสภาพคล่อง
“เศรษฐา” นำครม.ชุดใหม่ ถวายสัตย์ฯ 5 ก.ย.นี้ - ก่อนร่วมประชุมเวทีโลก!
ส่อง "หน่วยงานคลังเงินประเทศ" เมื่อนายกฯเศรษฐานั่งควบดูแลเงินแผ่นดินด้วยตัวเอง
จึงเสนอนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่ ควรรีบดำเนินการ 6 เรื่องด้วยกัน คือ ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน,แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้ธุรกิจ, โปรโมทการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นความหวังเดียวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้, แก้ปัญหาส่งออกหดตัว รวมถึงต้องเรียกความเชื่อมั่นให้กลับมาโดยเฉพาะด้านการลงทุนจากต่างชาติ ที่ชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยการเมืองที่มีความไม่แน่นอน
นายธนิต ยังฝากเป็นการบ้านให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีแรงงาน ทบทวนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาท และปริญญาตรี 25,000 บาท เนื่องจากมองว่า ช่วงนี้ไม่ใช่จังหวะที่เหมาะสม เพราะภาคเอกชนโดยเฉพาะ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อยอยู่ในภาวะยากลำบาก ยอดขายหดตัว หากจะปรับจริง ควรเป็นเดือนพฤษภาคมปีหน้า และควรทยอยปรับในเวลา 4 ปีเพื่อให้ภาคเอกชนมีเวลาปรับตัว และไม่ควรปรับปรับเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศ เพราะพื้นที่ต่างจังหวัดมีศักยภาพต่ำกว่าพื้นที่ในเมือง และสุดท้ายต้องไม่ลืมว่าต้นทุนที่สูงขึ้นจะไปตกที่ผู้บริโภค
นายธนิต ยังแสดงความเห็นถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงินประชาชนคนละ 1 หมื่นบาท ว่ารัฐบาลต้องมีความชัดเจนถึงเงื่อนไขในการใช้เงิน ชี้แจงให้ชัดเจนว่าจะแจกเมื่อไร จะหาเงินจากไหน เพื่อไม่ให้กระทบกับการเงินการคลัง และหนี้ของประเทศในอนาคต
เช่นเดียวกับ นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มองว่า การใช้งบประมาณเพื่อแจกเงิน 5.6 แสนล้านนั้น อาจจะมากเกินไป การใช้เงินกระตุ้นมาก ๆ ยังต้องระวังความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินเฟ้อ และเป็นภาระการคลังของประเทศ
ขณะที่นายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) มองว่ารัฐควรนำงบประมาณกว่า 5 แาสนล้าน ฃ ที่จะใช้กับนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ไปใช้กับนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า จ ะคุ้มค่า และตรงโจทย์กว่าหรือไม่
โดยยกตัวอย่าง หากนำเงิน 13,500 ล้านบาท อุดหนุนเด็กในครรภ์ เดือนละ 3,000 บาท, เงิน 52,000 ล้านบาท อุดหนุนเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี เดือนละ 1,000 บาท, 30,000 ล้านบาท อาหารกลางวันฟรี นมฟรี, 75,000 เรียนฟรีการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 150,000 ล้านบาท หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, 72,000 ล้านบาท อุดหนุนคนพิการเดือนละ 3,000 บาท, 10,000 ล้านบาท บ้านเช่ามาตรฐานราคาถูก และ 10,000 ขนส่งสาธารณะท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อให้กำแพงของคนรวยที่สร้างขึ้น มีความสมดุลกับผู้มีรายได้น้อย
ด้านนายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า ยังมีกลุ่มเปราะบางทางเศรษฐกิจ ที่ต้องการใช้รัฐสวัสดิการมาอุ้ม เพื่อที่จะพัฒนาตัวเอง และโจทย์ใหญ่โจทย์แรกของรัฐบาล คือ กระตุ้นจีดีพีโต 5% ถ้าเศรษฐกิจโตได้ ปัญหาทุกอย่างจะเบาลง
รวมถึงฝากนโยบายด้านการศึกษา และพัฒนาคุณภาพแรงงาน ซึ่งจนถึงตอนนี้ยังไม่เห็นนโยบายไหนจากพรรคร่วมรัฐบาลพรรคไหน ที่จริงจังเรื่องการอัพสกิล รีสกิลแรงงานอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะคนกลุ่มนี้จะเป็นผู้ขับเคลื่อนจีดีพีประเทศ พร้อมเตือนว่า ถ้าช้ากว่า 1 ปี ยังไม่มีนโยบายพัฒนาทักษะแรงงานอย่างเป็นรูปธรรมจะไม่ทันแล้ว