นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ขณะนี้พบผู้โฆษณาชวนเชื่อทางสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ เฟซบุ๊ก, ไลน์, อินสตาแกรม, ทวิตเตอร์ และยูทูป ประกาศรับสมัครผู้รับงานไปทำที่บ้าน ลักษณะเป็นงานอิสระ, งานฝีมือ, งานแพ็คสินค้า สามารถรับอุปกรณ์ไปทำที่บ้านได้ โดยอ้างว่ารายได้ดี ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยมักจะแอบอ้างชื่อหน่วยงานราชการเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
อย่าหลงเชื่อ! ชวนสมัครงานออนไลน์ 'เกาหลีเปิดรับแรงงานเก็บกะหล่ำปลี'
เตือน! ระวังนายหน้าเถื่อนระบาดเหนือ - อีสาน อ้างส่งคนไปทำงานต่างประเทศ
ล่าสุด มีการใช้ภาพอธิบดีกรมการจัดหางาน พร้อมตราสัญลักษณ์กรมการจัดหางาน (Logo) ไปแอบอ้าง ซึ่งทั้งหมดไม่เป็นความจริง หากหลงเชื่ออาจทำให้เสียทรัพย์ หรือโดนรีดข้อมูลส่วนบุคคลนำไปใช้ในทางมิชอบได้ จึงขอฝากถึงผู้ที่ประสงค์รับงานไปทำที่บ้าน สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือติดต่อสอบถามได้ที่กองส่งเสริมการมีงานทำ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน
นายสมชาย กล่าวว่า กรมการจัดหางานไม่นิ่งนอนใจดำเนินการตอบโต้และเอาผิดกลุ่มมิจฉาชีพทันที โดยดำเนินการ 3 ด้าน คือ
- ตรวจสอบ เฝ้าระวังและตอบโต้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่โพสต์ชักชวนและรับสมัครคนหางานไปทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วยวิธีผิดกฎหมาย โดยทันทีที่พบเห็น ชุดเฝ้าระวังจะนำข้อความแจ้งเตือนที่กรมการจัดหางานได้จัดทำขึ้น (แบนเนอร์โฆษณาสื่อออนไลน์) ไปโพสต์โต้ตอบใต้โพสต์ดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าโพสต์ดังกล่าวไม่เป็นความจริง
- ประสานงานกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย หรือ Anti Fake News เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบภายใน 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่เกิดจากความเข้าใจผิดและนำข่าวที่ไม่ถูกต้องไปเผยแพร่ต่อ
- การดำเนินการของฝ่ายกฎหมาย ของกรม ฯ ที่ส่งเรื่องดำเนินคดีไปยังศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ และกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด
สำหรับ ในปีงบประมาณ 2567 กรมการจัดหางานมีการดำเนินคดีสาย/นายหน้าเถื่อนแล้วถึง 131 ราย พบการหลอกลวงคนหางานทั้งสิ้น 232 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 16,787,622 บาท มีการโพสต์ตอบโต้ ชี้แจง พร้อมประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ถูกต้อง รวม 2,170 ครั้ง
ทั้งนี้ ผู้ที่นำเข้าข้อมูลเท็จ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2482 ระบุว่า ห้ามมิให้บุคคลใดใช้เครื่องหมายราชการ เว้นแต่หน่วยราชการที่กำหนดเครื่องหมายนั้นจะอนุญาต และ ห้ามมิให้ผู้ใดปลอมหรือเลียนเครื่องหมายราชการ ไม่ว่าจะเป็นสีใด หรือทำด้วยวิธีใด ๆ หรือทำให้ปรากฏที่วัตถุหรือสินค้าใดๆ ก็ตาม หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 2,000 บาท