วันที่ 17 ก.ค. 2567 นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ปลาหมอคางดำถือเป็นภัยต่อระบบนิเวศของไทย จากเดิมแพร่ระบาดใน 14 จังหวัดชายฝั่งทะลอ่าวไทย แต่ข้อมูลล่าสุดระบาดแล้ว 16 จังหวัด สิ่งที่ต้องทำหลังจากนี้ คือ การป้องกันไม่ให้แพร่ระบาดไปมากกว่านี้ ซึ่งแนวทางแก้ไข โดยได้มีแนวปฏิบัติเร่งด่วนจาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้ตั้งจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ ในจังหวัดที่มีการแพร่ระบาด ในกิโลกรัมละ 15 บาท จากเดิมซื้อกันอยู่ที่กิโลกรัมละ 7-10 บาท คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าน่าจะเริ่มดำเนินการได้
และอีกการแก้ปัญหาในระยะยาว คือ กรมประมงได้ทำการเหนี่ยวนำโครโมโซม เพื่อทำให้ปลาหมอคางดำเป็นหมัน แล้วปล่อยลงสู่ธรรมชาติ ซึ่งขณะนี้สำเร็จแล้วเตรียมปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติในเดือนธ.ค.ที่จะถึงนี้
ส่วนประเด็นที่บริษัทเอกชนนำเข้าปลาหมอคางดำเพียงเจ้าเดียวของประเทศไทย ให้ข้อมูลว่าได้ส่งปลาหมอคางดำ ดองในโถจำนวน 50 ตัวให้กรมประมง ทางอธิบดีกรมประมง ยืนยันว่ายังไม่ได้รับและไม่มีเอกสารทางราชการใดๆยืนยัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า วันนี้เอกชนพูดอีกอย่าง กรมประมงพูดอีกอย่างสรุปคือ จะสามารถหาต้นตอการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำได้หรือไม่เป็นไปได้ไหมที่จะมีการขุด หลุม ที่ฝังกลบปากหมอคางดำในฟาร์มของเอกชนที่อ้างว่านำไปฝังไว้ อธิบดีกรมประมง บอกว่า ในทางวิชาการไม่รู้เลยว่าเวลาผ่านไป 14 ปี ตัวปลาหมอคางดำยังจะมีซากหลงเหลืออยู่หรือไม่
เมื่อถามต่อว่ากรณีที่เกิดขึ้นทำไมถึงปล่อยให้เวลาเนิ่นนานถึง 14 ปีจนแพร่กระจายรุกรานมากขนาดนี้ อธิบดีตอบว่าเป็นเพราะบริษัทเอกชนที่นำเข้าไม่เคยแจ้งมาทางกรมประมง ตอนทำลายฝังกลบก็ไม่แจ้ง มีเพียงตอนที่พบการแพร่ระบาดแล้วกรมประมงเข้าไปตรวจในฟาร์มแต่ไม่ได้ตรวจหลุมฝังกลบ
ผู้สื่อข่าวถามต่ออีกว่า กรณีที่เกิดขึ้นเอกชนมีความผิดหรือไม่ สามารถเอาผิดทางกฎหมายได้ไหม อธิบดีตอบว่า วันนี้ยังไม่กล้าพูดว่าเอกชนผิดอะไร เพราะเท่าที่ดูกรมประมงยังไม่มีกฎหมายข้อไหนไปถึง ทำได้แค่เพียงไม่อนุญาตให้นำเข้าอะไรได้อีกต่อไป
พบสารพิษในกระติกน้ำ ก่อนสังเวย 6 ศพ ที่กลุ่มผู้ตายนำมาเอง
อุตุฯ เตือนฉบับ 10 ประเทศไทยฝนตกหนักถึงหนักมากจนถึงวันที่ 19 ก.ค.