ยังคงเป็นประเด็นร้อนสำหรับบริษัทดิไอคอนกรุ๊ป ซึ่งมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์มากกว่า 1 พันคนแล้ว รวมมูลค่าความเสียหายหลายร้อยล้านบาท ขณะเดียวกันมีการออกหมายจับ 18 บิ๊กบอสและบอสดาราเครือข่ายดิไอคอนไปแล้ว ในความผิดข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
วันนี้ พีพีทีวี จะพาย้อนรอยคดี “ฉ้อโกงชื่อดัง” ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ว่าแต่ละคดีมีความเสียหายมากแค่ไหน และปลายทางคดีเป็นอย่างไรบ้าง
แชร์แม่ชม้อย
คดีแชร์แม่ชม้อย เกิดในปี 2520 โดยเป็นการหลอกระดมทุนรถขนน้ำมัน ซึ่งอ้างผลตอบแทนสูงถึง 6.5% ต่อเดือน จนมีผู้เสียหายจำนวน 16,231 คน มีมูลค่าความเสียหายรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,554,582,440 บาท ซึ่งในคดีดังกล่าว มีการกล่าวหานางชม้อย ทิพย์โส หรือประเสริฐศรี หรือที่ประชาชนเรียกติดปากว่า “แม่ชม้อย” กับพวก ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และฝ่าฝืนพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
โดยศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2532 พิพากษาว่า จำเลยทั้งแปดมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา และฐานฉ้อโกงประชาชนตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน โดยให้จำคุกจำเลยทั้งแปด ฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา จำคุกคนละ 117,595 ปี และฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน รวมจำคุกคนละ 154,005 ปี
แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิดแล้ว คงจำคุกทั้งสิ้นคนละ 20 ปี และให้จำเลยทั้งแปดคนร่วมกันคืนเงินที่ฉ้อโกงประชาชน รวมจำนวน 4,554,582,440 บาท แก่ผู้เสียหายแต่ละคน ซึ่งเมื่อมีคำพิพากษาแล้วทรัพย์สินของนางชม้อยฯ กับพวกได้ถูกเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้เสียหายในคดี
ทั้งนี้ นางชม้อย จำคุกอยู่ในเรือนจำเพียง 7 ปี 11 เดือน 5 วัน เพราะได้รับการลดลงโทษ 2 ครั้ง และพ้นโทษเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2536
หมายถึงใคร? “อ.อ๊อด” เตรียมเอาผิด “ดีเจ” บิดาแชร์ลูกโซ่-ขบวนการดิไอคอน
ททท.อัดแคมเปญ “แอ่วเหนือคนละครึ่ง” ออกให้ 800 บาท กระตุ้นคนเที่ยวภาคเหนือ
LINE เตรียมยุติใช้งานเวอร์ชัน 12.18.0 บน iOS - Android พ.ย.นี้
แชร์ชาร์เตอร์
คดีแชร์ชาร์เตอร์ เกิดขึ้นระหว่างปี 2526-2528 โดยตัวการสำคัญคือ นายเอกยุทธ อัญชันบุตร เจ้าของบริษัท ชาร์เตอร์ อินเวสต์เมนท์ จำกัด โดยมีการชวนคนไปลงทุนซื้อสินค้าโภคภัณฑ์และเงินตราต่างประเทศมาเก็งกำไร โดยอ้างว่าให้ผลตอบแทนถึง 9% ต่อเดือน หรือ 108% ต่อปี ท้ายที่สุดก็มีคนหลงเชื่อร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 5,000 ล้านบาท
โดยคดีดังกล่าวนายเอกยุทธ อัญชันบุตร ได้หลบหนีคดีไปต่างประเทศ จนคดีหมดอายุความได้กลับมาไทย กระทั่งเสียชีวิตเมื่อปี 2556 ด้วยสาเหตุถูกอุ้มฆ่า
แชร์เสมาฟ้าคราม
คดีแชร์เสมาฟ้าคราม เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2529 โดย นายพรชัย สิงหเสมานนท์ เจ้าของหมู่บ้านเสมาฟ้าคราม โครงการบ้านจัดสรรราคาถูก 700 ยูนิต บนเนื้อที่ 320 ไร่ ตั้งอยู่ที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โดยนายพรชัยได้จัดระดมเงินทุนนอกระบบขึ้น หลังจากโครงการบ้านจัดสรรประสบปัญหาเรื่องการเงิน โดยผู้ที่เข้าร่วมแชร์จะได้รับผลตอบแทนสูงถึงเดือนละ 12.5% หรือ 150% ต่อปี
นอกจากนั้นยังมีการโฆษณาชวนเชื่ออย่างมาก ทำให้มีผู้คนหลงเชื่อและเข้ามาร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก แต่ต่อมาเพียง 2 ปี แชร์เสมาฟ้าครามก็เป็นอันต้องจบลงเพราะนายพรชัยไม่มีเงินจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งมูลค่าความเสียหายของคดีนี้สูงถึง 601 ล้านบาท ที่สุดแล้วธนาคารก็ได้เข้ามายึดทรัพย์สินที่จำนองไว้ ส่วนนายพรชัยถูกจับดำเนินคดีตามกฎหมายในข้อหาฉ้อโกงประชาชน
แชร์บลิสเซอร์
คดีแชร์บลิสเซอร์ เกิดขึ้นระหว่างปี 2534-2537 บริษัทบลิสเชอร์อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ดำเนินธุรกิจในรูปการจัดสรรวันพักผ่อนให้สมาชิกแบบเฉลี่ยสิทธิปีละ 4 วัน 4 คืน ตามโรงแรมหรือที่พักที่บริษัทกำหนดไว้ 14 แห่งทั่วประเทศ ในระยะเวลา 20 ปี โดยจะแบ่งสมาชิกออกเป็น 2 ประเภท “บัตรเงิน” เสียค่าสมาชิก 30,000 บาท และ “บัตรทอง” เสียค่าสมาชิก 60,000 บาท และหากหากผู้สมัครจัดหาสมาชิกเข้าร่วมโครงการจะได้ค่าตอบแทนอีก 20% ซึ่งมีผู้เสียหายหลงเชื่อ24,189 ราย มูลค่าความเสียหาย 826,266,000 บาท
แต่ท้ายที่สุดแชร์วงนี้ก็ล่มสลาย เพราะบริษัทบลิสเชอร์ไม่มีสถานที่พักของตัวเอง และในปี 2556 ศาลอุทธรณ์มีคำตัดสินให้จำคุกจำเลย 3 คน ที่เกี่ยวข้องกับคดีแชร์บลิสเชอร์ ซึ่งเป็นกรรมการที่มีอํานาจในบริษัทฯ ฐานฉ้อโกงประชาชน รวม 24,189 กระทง จำคุก 120,945 ปี แต่ตามกฎหมายเมื่อรวมลงโทษทุกกระทงแล้วให้จําคุกได้ไม่เกิน 20 ปี ขณะที่จำเลยบางส่วนยังคงหลบหนี
แชร์ลูกโซ่ยูฟัน
คดีแชร์ลูกโซ่ยูฟัน เกิดขึ้นในปี 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ได้บุกทลายเครือข่ายแชร์ลูกโซ่รายใหญ่ นั่นคือ บริษัท ยูฟันสโตร์ ซึ่งประกอบธุรกิจไม่ตรงตามที่ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทขายตรงและออกเงินสกุลดิจิทัล ชื่อ ‘ยูโทเคน’ หลอกลวงประชาชนสร้างความเสียหายมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท
โดยแชร์ยูฟันใช้วิธีชักชวนให้คนมาลงทุนเป็นเครือข่าย มีทั้งการขายหน่วยการลงทุน ‘ยูโทเคน’ เป็นหน่วยลงทุนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ไม่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย แต่บริษัทอ้างว่าเป็นสกุลเงินมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเหตุที่มีผู้เสียหายมาก เพราะโมเดลที่ออกแบบให้หาสมาชิกใหม่ โดยจูงใจว่า หากสามารถหาสมาชิกมาเพิ่มได้ จะให้ส่วนแบ่ง 7-12% จากเงินที่สมาชิกใหม่นำมาลงทุนใหม่ โดยมีผู้เสียหาย 2,451 คน รวมเป็นเงิน 356 ล้านบาท
ซึ่งศาลอนุมัติหมายจับเครือข่ายยูฟัน ทั้งหมด 164 คน ก่อนติดตามจับกุมแม่ข่ายและสมาชิกได้บางส่วน คงเหลือผู้ต้องหาที่ยังอยู่ระหว่างการหลบหนีอีกบางส่วน ซึ่งศาลพิพากษาจำคุกจำเลยคดีนี้ 22 คน โดยมีโทษจำคุกตั้งแต่ 12,255-12,267 ปี
แชร์แม่มณี
คดีแชร์แม่มณี เกิดขึ้นใน 2561 โดย “แม่มณี” หรือ น.ส.วันทนีย์ ทิพย์ประเวช ซึ่งได้ตั้งโปรเจ็กท์ออมเงินขึ้นชื่อว่า “ฝากเงิน ออมเงิน by บัญชีแม่มณี” แล้วชักชวนคนอื่นๆ มาร่วมฝากเงินเป็นการลงทุน โดยคนที่สนใจ สามารถฝากเงินกับโครงการ จำนวนวงละ 1,000 บาท และจะได้รับผลกำไรกลับคืนเป็นเงิน 930 บาท หรือ คิดเป็นดอกเบี้ย 93% ในเดือนต่อมา โดยไม่มีการจำกัดวงเงินฝาก
โดยสิ่งที่ทำให้คนหลงเชื่ออย่างง่ายดาย เพราะเฟซบุ๊กของแม่มณี จะแอบอ้างเป็นผู้จัดละครช่องดัง เป็นผู้จัดภาพยนตร์ และเจ้าของแบรนด์เครื่องสำอาง จนทำให้มีผู้เสียหายจำนวนมาก เนื่องจากการลงทุนในช่วงแรกได้เงินต้นและดอกเบี้ยคืนจริง แต่เมื่อทุ่มเงินลงทุนมากขึ้นกลบไม่ได้รับเงินคืน จนสุดท้าย “แม่มณี” ปิดทุกช่องทางการติดต่อ โดยมีผู้เสียหายจากแชร์แม่มณีกว่า 2,300 ราย วงเงินความเสียหายสูงกว่า 1,300 ล้านบาท
โดยศาลอาญา พิพากษาจำคุก “แม่มณี-สามี” จำนวน 12,640 ปี ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ และข้อหาอื่น แต่สุดท้ายเหลือคุกแค่ 20 ปี ตามกฎหมาย
คดี Forex-3D
คดี Forex-3D เกิดขึ้นในปี 2562 โดยมีการเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมลงทุนซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ (FOREX) ผ่านเว็บไซต์ www.forex-3D.com โดยที่ FOREX 3D เปรียบเสมือนนายหน้าโบรกเกอร์ที่ช่วยเทรด FOREX เมื่อได้เงินกำไรมาก็จะแบ่งกันตามสัดส่วนที่ตกลงกันไว้ โดย FOREX 3D ได้การันตีผลตอบแทน 10-15% ทุกเดือนๆ ให้กับผู้ลงทุน
นอกจากนั้น Forex 3D ยังมีระบบดาวน์ไลน์ หากสมาชิกคนไหนหาสมาชิกใหม่มาลงทุนเพิ่มได้ ก็จะได้เงินส่วนแบ่งเพิ่มเป็นพิเศษอีกด้วย โดยสุดท้ายมีผู้หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อถึง 8,436 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 2 พันล้านบาท แต่นอกจากนั้นยังมี ผู้เสียหายอีกหลายหมื่นคนที่ไม่กล้าเปิดเผยตัวตน เพราะอับอายที่ถูกหลอก โดยมีการประเมินมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น มากกว่า 4 หมื่นล้านบาท
ซึ่งปัจจุบัน คดี FOREX 3D ยังไม่สิ้นสุดโดยสมบูรณ์ เพราะยังต้องดำเนินคดีและสืบสวนสอบสวนอยู่อีกหลายส่วน เนื่องจากเป็นคดีที่ซับซ้อน มีผู้เสียหายจำนวนมาก และมีการกระทำความผิดหลายรูปแบบ
และที่น่าสนใจคือในคดีดังกล่าว มีคนในวงการบันเทิงจำนวนมากที่โยงใยกับคดีนี้ ทั้งในสถานะผู้เสียหาย และในสถานะคนที่ได้ผลประโยชน์จาก Forex 3D ซึ่งมีดาราหลายคนที่ถูก
ส่วนกรณีล่าสุดของบริษัทดิไอคอน ที่มีการออกหมายจับ 18 ผู้บริหารปและผู้เกี่ยวข้องกับบริษัทดิไอคอนกรุ๊ป ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แล้วนั้น ยังคงจะต้องติดตามความคืบหน้ากันต่อไป