นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) ในฐานะโฆษกกระทรวงดีอี กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 17 – 23 มกราคม 2568 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 839,286 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 665 ข้อความ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่า
เป็นข่าวเกี่ยวกับเรื่องภัยพิบัติ โครงการของรัฐ และหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ รวมทั้งเรื่องของสุขภาพ และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมส่วนใหญ่ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด สับสน และวิตกกังวลได้ ข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง มีหิมะตกที่เมืองไทย
อันดับที่ 2 : เรื่อง ศุภาลัย ใจดีให้ยืม เปิดให้บริการสินเชื่อเงินกู้ ชำระผ่านแอปธนาคารหรือบัตรเดบิตของกรุงไทยได้
อันดับที่ 3 : เรื่อง ผลิตภัณฑ์ OlyLife THz Tera-P90 รักษาอาการบาดเจ็บด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
อันดับที่ 4 : เรื่อง ธ.ก.ส. เปิดลงทะเบียนใหม่ ให้ยืม 1 แสนบาท ยกหนี้เสียให้ ยื่นได้ทุกอาชีพ
อันดับที่ 5 : เรื่อง สนามบินสุวรรณภูมิ เปิดเพจเฟซบุ๊กจำหน่ายกระเป๋าเดินทาง
อันดับที่ 6 : เรื่อง ธ.ก.ส. เปิดให้ลงทะเบียนกู้เงิน 50,000 บาท ไม่ต้องเป็นเกษตรก็กู้ได้
อันดับที่ 7 : เรื่อง ปลาหมอคางดำกลับมาระบาด ล่าสุดพบในบ่อกุ้ง คลองยี่สาร กว่า 6 ตัน
อันดับที่ 8 : เรื่อง เมฆเตือนภัย จะเกิดไฟไหม้ในประเทศไทยเหมือนที่ LA ระวังถึง 10 ก.พ. 68
อันดับที่ 9 : เรื่อง เผยเลขหลุดของสลากกินแบ่งงวดวันที่ 17 ม.ค. 68 ที่ผ่านมา
อันดับที่ 10 : เรื่อง กฟภ. เพิ่มช่องทางติดต่อผ่านไลน์ ไอดี pea10689
และจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับข้างต้น พบว่าเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องภัยพิบัติ เรื่องของโครงการของรัฐ หรือหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ เรื่องของสุขภาพ และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งทั้งหมดมีผลกระทบต่อประชาชน
ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ความวิตกกังวล ส่งผลกระทบกับประชาชนทั่วประเทศเป็นวงกว้าง หากมีการแชร์ส่งต่อกันไปในสังคม โดยเฉพาะข่าวที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิด หรือตื่นตระหนกต่อประชาชนส่วนใหญ่ หรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐ ซึ่งอาจเป็นช่องทางของการก่ออาชญากรรมออนไลน์ได้
กรมอุตุฯ ยืนยัน ประเทศไทยหิมะตก เป็นไปได้น้อยมาก
สำหรับ เรื่อง “มีหิมะตกที่เมืองไทย” กระทรวงดีอี โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ และขอชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้มีที่มาจากกรมอุตุฯแต่อย่างใด โดยประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน และที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ใกล้เส้นศูนย์สูตร โอกาสการเกิดหิมะในประเทศไทยนั้นถือว่าน้อยมาก เนื่องจากที่ตั้งของประเทศไทยอยู่ตำแหน่งละติจูด 20 องศาเหนือ ถึง 5 องศาเหนือ ซึ่งอยู่บริเวณเหนือเส้นศูนย์สูตร (Equator) ในเขตร้อนชื้น สภาพอากาศร้อนสลับกับฝนตกชุกตลอดปี ไม่เอื้อต่อการก่อตัวของหิมะ
ด้านข่าวปลอมอันดับ 2 เรื่อง “ศุภาลัย ใจดีให้ยืม เปิดให้บริการสินเชื่อเงินกู้ ชำระผ่านแอปธนาคารหรือบัตรเดบิตของกรุงไทยได้” กระทรวงดีอี ได้ประสานงานตรวจสอบร่วมกับธนาคารกรุงไทย กระทรวงการคลัง พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ และขอชี้แจงว่า ธนาคารไม่มีนโยบาย หรือไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล่อยสินเชื่อผ่านทางเพจเฟซบุ๊กแต่อย่างใด