คู่มือสำรวจความเสียหายเบื้องต้น หลังแผ่นดินไหวอาคาร - โครงสร้างเสียหายระดับไหน

โดย PPTV Online

เผยแพร่

สำรวจความเสียหายโครงสร้างอาคารแต่ละประเภทด้วยตัวเอง ตรวจสอบที่พักอาศัยมีความเสียหายระดับไหน ก่อนประสานงานผู้เชี่ยวชาญยืนยันความแข็งแรงปลอดภัย

หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่สร้างแรงสั่นสะเทือนมาถึงประเทศไทยในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ทำให้หลายคนมีความกังวลเกี่ยวกับที่พักอาศัยของตัวเองว่ายังปลอดภัยดีอยู่หรือไม่ และรอยร้าวประเภทไหนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย หรือแบบไหนที่อยู่ในขั้นอันตราย

หนึ่งในกระบวนการสำคัญเวลานี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กรุงเทพมหานคร ระดมวิศวกรจากทุกภาคส่วนร่วมตรวจสอบอาคารทั้งหมด โดยหนึ่งในช่องทางสำคัญคือการรับแจ้งเหตุผ่าน Traffic Fondue

คอนเทนต์แนะนำ
รอยร้าวในบ้านลักษณะใดบ้าง หากพบเห็นไม่ควรมองข้าม!
แห่ชม “เพจมิตรเอิร์ธ” แชร์ความรู้รอยเลื่อนสะกาย 2 ปีก่อน-ทำนายช่วงเวลาอาจเกิดแผ่นดินไหว

ตรวจสอบความเสียหาย แผ่นดินไหว กรมโยธาธิการและผังเมือง
คู่มือสำรวจความเสียหายเบื้องต้น หลังแผ่นดินไหวอาคาร - โครงสร้างเสียหายระดับไหน

อย่างไรก็ตามเพื่อคลายกังวลของทุกคนในเบื้องต้น PPTV Online รวบรวมข้อมูล คู่มือการสำรวจความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างอาคารหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่จัดทำโดย กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2560 เพื่อใช้สำรวจโครงสร้าง “เบื้องต้น” ของตัวเอง

ส่วนการตรวจสอบโครงสร้างที่มีความละเอียดชัดเจน เพื่อยืนยันความแข็งแรงปลอดภัย ยังคงแนะนำให้ประสานงานให้ผู้เชี่ยวชาญมาดำเนินการต่อไป

การสำรวจความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างอาคารแต่ละประเภทจะมีรายละเอียดในการพิจารณาแตกต่างกันไป โดยคู่มือนี้เป็นการสรุปจุดที่มักจะเกิดการวิบัติของโครงสร้างแต่ละประเภท เพื่อให้ผู้สำรวจสามารถใช้เป็นแนวทางในการสำรวจได้ แต่ก็ยังจำเป็นที่จะต้องใช้วิจารณญาณประกอบการสำรวจอาคารแต่ละหลัง เนื่องจากสภาพความเสียหายอาจมีความแตกต่างกันในรายละเอียด

อาคารโครงสร้างไม้

เป็นโครงสร้างที่มีน้ำหนักเบา ดังนั้นเมื่อเกิดแผ่นดินไหวแรงสั่นสะเทือนจึงส่งผลกระทบต่ออาคารประเภทนี้น้อยกว่าประเภทอื่น ๆ ความเสียหายของชิ้นส่วนโครงสร้างไม้ส่วนมากจะเกิดขึ้นเฉพาะจุดต่อ (connection) แต่มักจะไม่ปรากฎความเสียหายที่ตัวชิ้นส่วนโครงสร้าง

การสำรวจจึงเน้นที่ความเสียหายที่จุดต่อชิ้นส่วนโครงสร้างไม้เป็นหลัก แต่หากปรากฎการวิบัติของตัวชิ้นส่วนโครงสร้างจะแสดงว่าโครงสร้างของอาคารนั้นได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง

การสำรวจความเสียหายขั้นต้นของอาคารโครงสร้างไม้ ผู้สำรวจสามารถสังเกตจากลักษณะความเสียหาย ดังต่อไปนี้

การตรวจพบความเสียหายไม่ว่าที่จุดต่อหรือที่ชิ้นส่วนโครงสร้างของอาคาร จะแสดงว่าอาคารได้สูญเสียสมรรถนะในการรับกำลังไปอย่างมาก หากอาคารต้องรองรับแรงเพิ่มเติมในอนาคต อาจส่งผลให้เกิดการพังถล่ม ดังนั้น หากพบความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างไม้ จะพิจารณาว่า อาคารนั้นมีความเสียหายในระดับรุนแรง (สีแดง) เพื่อป้องกันอันตรายจากการใช้งาน และเพื่อให้มีการดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อยืนยันความปลอดภัยต่อไป

อาคารโครงสร้างอิฐก่อ

ส่วนใหญ่ในไทยจะเป็นชนิดไม่มีการเสริมเหล็กโดยมีผนักก่อสร้างด้วย อิฐมอญ อิฐบล็อก หรืออิฐบล็อกประสาน และทำหน้าที่รับน้ำหนักจากคาน พื้น หรือหลังคาที่ก่อสร้างด้วยวัสดุประเภทอื่น เช่น ไม้หรือเหล็กรูปพรรณ เป็นต้น

การพังทลายของอาคารโครงสร้างอิฐก่อส่วนใหญ่จะเป็นผลเนื่องมาจากการเอนออกจากระนาบ (out-of-plane) ของผนังก่ออิฐ โดยความเสียหายเริ่มต้นจากผนักเกิดการแตกร้าวในแนวทแยง (diagonal cracks) เป็นรูปขั้นบันไดตามแนวของปูก่อ ซึ่งเป็นผลจากแรงสั่นสะเทือนในช่วงเริ่มต้น

หากการสั่นสะเทือนมีความรุนแรงไม่มาก รอยแตกร้าวนี้จะไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพของผนัง เนื่องจากน้ำหนักของผนังยังคงสามารถยึดรั้งรอยแตกร้าวไว้ได้ แต่หากแรงสั่นสะเทือนมีความรุนแรงมากขึ้น จะส่งผลให้รอยแตกร้าวกว้างมากขึ้น จนผนังไม่สามารถคงสภาพอยู่ในระนาบต่อไปได้ ทำให้ผนังส่วนนั้นเกิดการพังถล่มลงมา ซึ่งส่งผลให้อาคารบางส่วนหรือทั้งหมดพังถล่ม

การตรวจสอบความเสียหายขั้นต้นของอาคารโครงสร้างอิฐก่อ นอกจากจะพิจารณาจากรอยแตกร้าวในแนวทแยงขนาดใหญ่ที่ผนังและการเคลื่อนหลุดออกจากระนาบผนังแล้ว ผู้สำรวจสามารถสังเกตจากลักษณะความเสียหายอื่นๆ ของอาคารโครงสร้างอิฐก่อได้ดังต่อไปนี้

  • รอยแตกร้าวในแนวนอนที่ฐานผนัง
  • รอยแยกระหว่างโครงสร้างพื้นหรือหลังคาและผนังอิฐก่อ
  • การถอนของอุปกรณ์ยึดต่าง ๆ ระหว่างโครงสร้างพื้นหรือหลังคาและผนังอิฐก่อ
  • การเอนออกจากระนาบของผนังอิฐก่อ

เช่นเดียวกับอาคารโครงสร้างไม้ การตรวจพบความเสียหายของอาคารโครงสร้างอิฐก่อนั้น แสดงว่าอาคารได้สูญเสียสมรรถนะในการรับแรงไปอย่างมาก และอาจพังถล่มได้หากเกิดแผ่นดินไหวตามหรือมีแรงกระทำอื่นๆ ในอนาคต

คอนเทนต์สำหรับคุณ

เนื้อหาคัดสรรคุณภาพ

เนื้อหาสนับสนุน By Bluedot
เนื้อหาสนับสนุน By Bluedot

ดังนั้น การสำรวจความเสียหายขั้นต้นหากพบความเสียหายของอาคารอิฐก่อตามที่ระบุข้างต้นควรระงับการใช้งานอาคารและให้มีดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อรับรองความปลอดภัย หากเจ้าของอาคารมีความประสงค์จะใช้งานอาคารต่อไป

ตรวจสอบความเสียหาย แผ่นดินไหว กรมโยธาธิการและผังเมือง
คู่มือสำรวจความเสียหายเบื้องต้น หลังแผ่นดินไหวอาคาร - โครงสร้างเสียหายระดับไหน

อาคารโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก

โดยทั่วไปอาคารโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กส่วนใหญ่เป็นโครงสร้างข้อแข็งรับแรงดัด (rigid moment frame) จะมีคานเป็นโครงสร้างแนวราบ เสาเป็นโครงสร้างแนวดิ่ง และมีผนังอิฐก่อเป็นผนังกั้นทั้งภายนอกหรือภายนอกอาคาร โดยลักษณะความเสียหายที่มักตรวจพบ ผู้ตรวจสอบควรนำมาพิจารณาในการสำรวจความเสียหายขั้นต้นด้วย

รูปต่างๆ

โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กชนิดแผ่นพื้นท้องเรียบ (flat slab) ลักษณะความเสียหายที่ผู้สำรวจควรนำมาพิจารณาในการสำรวจความเสียหายขั้นต้น คือ การวิบัติแบบเฉือนทะลุ และการฉีดขาดของแผ่นพื้นบริเวณแนวคานหรือกำแพงรับน้ำหนัก

สำหรับโครงสร้างแผ่นพื้นสำเร็จรูป (precast slab) ความเสียหายเพียงเล็กน้อยที่แผ่นพื้น อาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อผู้ใช้อาคารได้ เนื่องจากการขาดโครงสร้างส่วนเผื่อ (redundancy) ในแนวการถ่ายเทแรง (load path) ของระบบโครงสร้าง โดยลักษณะความเสียหายที่ผู้สำรวจควรนำมาพิจารณาในการสำรวจความเสียหายขั้นต้นประกอบด้วย

  1. ความเสียหายของแผ่นพื้นที่อยู่ขนานกับโครงของอาคาร
  2. รอยแตกร้าวในแนวนอนตลอดความกว้างของปีกแผ่นพื้นชนิด double-tee
  3. การฉีกขาดของแผ่นพื้นที่ปลายแผ่บริเวณฐานรองรับ
  4. รอยแตกร้าวในแนวนอนตลอดความยาวของส่วนเอวของแผ่นพื้นชนิด hollowcore
  5. รอยแตกร้าวในแนวนอนตลอดความกว้างของปีกแผ่นพื้นชนิด hollowcore (โดยทั่วไปจะเกิดขึ้นในช่วง 30-60 เซนติเมตรจากฐานรองรับ)
  6. รอยแตกร้าวในแนวทแยงเนื่องจากแรงดัดหรือแรงเฉือนที่ส่วนเอวของแผ่นพื้นชนิด hollowcore

สำหรับโครงสร้างพื้นหล่อในที่รองรับด้วยแผ่นเหล็ก (steel decking) เป็นระบพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กที่วางอยู่บนโครงสร้างเหล็กรูปพรรณ ซึ่งลักษณะความเสียหายที่ผู้สำรารวจควรนำมาพิจารณาในการสำรวจความเสียหายขั้นต้น คือ การลึกขาดของแผ่นพื้นและคานเหล็กรูปพรรณ รายละเอียดความเสียหายของโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กจะใช้เป็นข้อมูลของจุดที่ผู้สำรวจควรตรวจสอบเมื่อทำการสำรวจริง

การระบุระดับความเสียหายของโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก

เนื่องจากโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กส่วนใหญ่จะถูกออกแบบให้มีความเหนียว ทำให้สามารถรองรับความเสียหายได้มากจนกว่าจะเกิดการพังถล่ม ซึ่งแตกต่างกับโครงสร้างไม้หรือโครงสร้างอิฐก่อ ดังนั้น ในการตรวจสอบความเสียหายขั้นต้นของอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กจึงสามารแบ่งระดับความเสียหายของโครงสร้างออกเป็น 3 ระดับ

ระดับที่ 1 ไม่มีความเสียหายหรือเสียหายเพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่ส่งผลต่อสมรรถนะในการรับน้ำหนักของอาคารแม้จะต้องรองรับแรงแผ่นดินไหวตามหรือแรงอื่นๆ ในอนาคต โดยลักษณะของความเสียหายในระดับนี้จะใช้กับชิ้นส่วนโครงสร้างที่ไม่พบรอยแตกร้าวหรือมีรอยแตกร้าวขนาดเล็กมาก (hair crack) เกิดที่ผิวของชิ้นส่วนโครงสร้าง

ระดับที่ 2 มีความเสียหายปานกลาง ซึ่งอาจไม่ส่งผลต่อสมรรถนะในการรับน้ำหนักของอาคาร เมื่อต้องรองรับแรงแผ่นดินไหวตามหรือแรงอื่นๆ ในอนาคต แต่อาจก่อให้เกิดอันตรายจากการร่วงหล่นของชิ้นส่วนวัสดุ โดยลักษณะของความเสียหายในระดับนี้จะใช้กับชิ้นส่วนโครงสร้างที่เกิดรอยแตกร้าวที่เห็นได้ชัดเจน แต่ยังไม่เห็นเหล็กเสริมและรอยแตกร้าวอาจมีความลึกตลอดหน้าตัดได้ โดยโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีความเสียหายระดับนี้ยังคงสามารถใช้งานต่อไปได้แต่ควรได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียด อีกครั้งเพื่อยืนยันความปลอดภัยในการใช้งานอาคารต่อไป

ระดับที่ 3 มีความเสียหายรุนแรง ซึ่งส่งผลต่อสมรรถนะในการรับน้ำหนักของอาคารและอาคาร อาจเกิดการพังถล่มได้เมื่อต้องรองรับแรงแผ่นดินไหวตามหรือแรงอื่นๆ ในอนาคต โดยลักษณะของความเสียหายในระดับนี้จะใช้กับชิ้นส่วนโครงสร้างที่มีรอยแตกร้าวขนาดใหญ่หรือมีการหลุดร่อนของเนื้อคอนกรีตขนาดใหญ่จนสามารถเห็นเหล็กเสริมได้อย่างชัดเจน รวมทั้งเหล็กเสริมอาจเกิดการโก่งเดาะด้วย

ซึ่งบ่งบอกว่าชิ้นส่วนโครงสร้างนั้นๆ ได้สูญเสียกำลังในการรับแรงไปอย่างมาก โดยอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีความเสียหายระดับนี้จะถูกห้ามให้ใช้งานเพื่อป้องกันภัยจากการพังถล่ม และต้องได้รับการตรวจสอบโดยละเอียดอีกครั้ง โดยวิศวกรเพื่อประเมินถึงความจำเป็นหากต้องรื้ออออนอาคารหรือกำหนดวิธีในการซ่อมแซฒให้อาคารมีความปลอดภัยเพียงพอหากต้องการใช้งานอาคารต่อไป

ตรวจสอบความเสียหาย แผ่นดินไหว กรมโยธาธิการและผังเมือง
คู่มือสำรวจความเสียหายเบื้องต้น หลังแผ่นดินไหวอาคาร - โครงสร้างเสียหายระดับไหน

อาคารโครงสร้างเหล็กรูปพรรณ

อาคารโครงสร้างเหล็กรูปพรรณสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท ได้แก่ อาคารโครงแกงแนง (braced frame) โดยการตรวจสอบความเสียหายอาคารโครงแกงแนงจะพิจารณาจากความเสียหายที่ตำแหน่งต่างๆ ได้แก่ การฉีกขาดหรือการโก่งเดาะของแกงแนง การฉีกขาดของสลักยึดหรือรอยเชื่อมที่จุดต่อของแกงแนง และการโก่งเดาะของเสา

อาคารโครงรับโมเมนต์ดัด (moment-resisting frame) เมื่อเกิดแผ่นดินไหวอาคารจะเกิดการเคลื่อนที่สัมพัทธ์ระหว่างชั้น (story dift) อย่างมากจนอาจส่งผลให้เกิดการคราก (yieldine) การโก่งเดาะ (bucking) หรือการฉีกขาด (fracture) ที่ตัวชิ้นส่วนโครงสร้างเองหรือที่จุดต่อ (connection) ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะพบความเสียหายที่คาน (girder) เสา (column) บริเวณถ่ายเทแรงระหว่างคาน-เสา (panel zone) รอยเชื่อมระหว่างคานและเสา(Weld) แผ่นเหล็กรับแรงเฉือน (shear tab) ที่ยึดระหว่างส่วนเอวของคานและส่วนปีกของเสา รอยเชื่อมต่อของชิ้นส่วนโครงสร้าง (splice) แผ่นเหล็กที่ฐานรองรับ (base plate) และจุดอื่นๆ

ตรวจสอบความเสียหาย แผ่นดินไหว กรมโยธาธิการและผังเมือง
คู่มือสำรวจความเสียหายเบื้องต้น หลังแผ่นดินไหวอาคาร - โครงสร้างเสียหายระดับไหน

ลักษณะความเสียหายเนื่องจากแผ่นดินไหวของโครงสร้างเหล็กรูปพรรณ

คานเหล็ก (Girder)

ความเสียหายของคานเหล็กรูปพรรณที่มักจะตรวจพบหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว ได้แก่ การคราก การโก่งเดาะ หรือการฉีกขาดที่ส่วนปีกของคานหรือใกล้กับจุดต่อระหว่างเสา – คาน

  • การโก่งเดาะที่ป๊กคาน (ปีกบนหรือปีกล่างก็ได้)
  • การครากที่ปีกคาน (ปีกบนหรือปีกล่างก็ได้)
  • การฉีกขาดที่ปีกคานบริเวณใกล้รอยเชื่อม (ปีกบนหรือปีกล่างก็ได้)
  • การฉีกขาดที่ปีกคานบริเวณห่างจากรอยเชื่อม (ปีกบนหรือปีกล่างก็ได้)
  • การครากหรือการโก่งเดาะที่ส่วนเอวของคาน
  • การฉีกขาดที่ส่วนเอวของคาน
  • การโก่งเดาะด้านข้างเนื่องจากแรงบิดของหน้าตัดคาน

ตำแหน่งรอยเชื่อมระหว่างคานและเสาเป็นอีกจุดหนึ่งที่มักจะเกิดความเสียหายได้เมื่อเกิดแผ่นดินไหว และหากวัสดุเชื่อมที่ใช้เป็นชนิดที่มีกำลังในการต้านทานแรงฉีกขาดที่ต่ำ (low notch-toughness) อาจก่อให้เกิดการฉีกขาดที่ปีกคานบริเวณใกล้รอยเชื่อม หรือการฉีกขาดที่ส่วนเอวได้ ซึ่งเป็นการฉีกขาดที่ต่อเนื่องมาจากการฉีกขาดของรอยเชื่อม ทำให้หน้าตัดของคานสูญเสียกำลังในการรับแรงดึงดึงซึ่งเป็นผลให้กำลังในการถ่ายเทแรงทางข้างของโครงสร้างและความแข็งแรงของจุดต่องจุดลดลง

ตรวจสอบความเสียหาย แผ่นดินไหว กรมโยธาธิการและผังเมือง
คู่มือสำรวจความเสียหายเบื้องต้น หลังแผ่นดินไหวอาคาร - โครงสร้างเสียหายระดับไหน

เสาเหล็ก (Column)

ความเสียหายของเสาเหล็กจะส่งผลให้ความสามารถในการรับน้ำหนักเนื่องจากแรงโน้มถ่วง และการต้านทานแรงทางข้างของโครงสร้างลดลง โดยทั่วไปลักษณะของความเสียหายเนื่องจากแรงแผ่นดินไหวของเสาเหล็กที่มักจะตรวจพบ ดังนี้

  • รอยแตกร้าวที่ผิวของส่วนปีก
  • เนื้อเหล็กของส่วนปีกเกิดการฉีกหลุดออกมามีลักษณะเป็นหลุม
  • รอยฉีกขาดที่ส่วนปีกบริเวณใกล้รอยเชื่อม
  • รอยฉีกขาดที่ส่วนปีกบริเวณที่ติดกับรอยเชื่อม
  • การฉีกขาดเป็นแผ่น (lamellar tearing) ที่ส่วนปีก
  • การโก่งเดาะของส่วนปีก
  • การวิบัติบริเวณจุดต่อทาบเสาเหล็ก (splice)
  • การโก่งเดาะด้านข้าง
  • แผ่นเหล็กรับแรงเฉือน (Shear Tab)

แผ่นเหล็กรับแรงเฉือนเป็นส่วนประกอบหนึ่งของจุดเชื่อมต่อระหว่างคานและเสาโดยทำหน้าที่ถ่ายทอดแรงเฉือนจากคานลงสู่เสา โดยปกติความเสียหายของแผ่นเหล็กรับแรงเฉือนนี้จะเกิดร่วมกับความเสียหายของส่วนประกอบอื่นๆ ในบริเวณจุดเชื่อมต่อ เช่น คาน เสา รอยเชื่อม และพื้นที่ถ่ายเทแรง (panel zone) โดยลักษณะความเสียหายเนื่องจากแรงแผ่นดินไหวของแผ่นเหล็กรับแรงเฉือนที่มักจะตรวจพบ

  • รอยแตกร้าวบางส่วนของรอยเชื่อมระหว่างเลากับแผ่นเหล็กฯ
  • รอยฉีกขาดของรอยเชื่อมโดยรอบแผ่นเหล็กฯ
  • รอยฉีกขาดของแผ่นเหล็กฯ ตามแนวสลักยึด (bolt)
  • การครากหรือการโก่งเดาะของแผ่นเหล็กฯ
  • สลักยึดหลวม เสียหาย หรือหลุดหายไป
  • รอยฉีกขาดตลอดความยาวของรอยเชื่อมระหว่างเสากับแผ่นเหล็กฯ

ความเสียหายของแผ่นเหล็กรับแรงเฉือนจะส่งผลให้ความสามารถในการรับน้ำหนักเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของคานเหล็กลดลงอย่างมากซึ่งอาจก่อให้เกิดการพังทลายบางส่วนได้ โดยแรงเฉือนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อแผ่นเหล็กรับแรงเฉือนนี้เกิดจากการที่คานและเสามีการโก่งหมุนที่ไม่เท่ากัน (differential rotation) ซึ่งเป็นผลจากความเสียหายอย่างหนักของจุดเชื่อมต่อ

บริเวณถ่ายเทแรงระหว่างเสา-คาน (Panel Zone)

ความเสียหายบริเวณถ่ายเทแรงระหว่างคาน-เสา (panel zone) เป็นหนึ่งในความเสียหายที่ตรวจสอบได้ยากเนื่องจากการกีดขวางของคานเหล็กในทิศทางแกนอ่อน (weak ads) ของเสา รวมทั้งความยากในการเข้าถึงและการเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนเสาโดยไม่กระทบต่อความสามารถในการรับน้ำหนักคงที่ทั้งหมดของตัวอาคาร (gravity load) ทำให้ความเสียหายนี้มีค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมมากที่สุดในบรรดาความเสียหายทั้งหมด

  • การฉีกขาด การโก่งเดาะ หรือการครากของแผ่นเหล็กถ่ายเทแรง (continuity plate)
  • การฉีกขาดที่รอยเชื่อมของแผ่นเหล็กถ่ายเทแรง
  • การครากหรือการยืดตัวที่ส่วนเอวของเสา
  • การฉีกขาดที่รอยเชื่อมของแผ่นเหล็กเสริมความหนา (doubler plate)
  • การฉีกขาดบางส่วนของแผ่นเหล็กเสริมความหนา
  • การฉีกขาดบางส่วนที่ส่วนเอวของเสา
  • การฉีกขาดตลอดความลึกที่ส่วนเอวของเสาหรือที่แผ่นเหล็กเสริมความหนา
  • การโก่งเดาะที่ส่วนเอวของเสา
  • การฉีกขาดตลอดหน้าตัดเสา

การระบุระดับความเสียหายของโครงสร้างเหล็กรูปพรรณ

ระดับที่ 1 ไม่มีความเสียหายหรือมีความเสียหายเพียงเล็กน้อย คืออาคารที่ไม่ตรวจพบความเสียหายตามที่ระบุในเงื่อนไขของอาคารที่มีความเสียหายปานกลางและอาคารที่มีความเสียหายรุนแรง

ระดับที่ 2 มีความเสียหายปานกลาง คือ อาคารที่มีส่วนประกอบอาคารได้รับความเสียหายอย่างหนักและปรากฏลักษณะความเสียหายของโครงสร้าง ข้อใดข้อหนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งข้อ โดยเป็นความเสียหายที่สามารถได้ด้วยตาเปล่าเท่านั้น

  • จุดต่อของคานใดคานหนึ่งมีความเสียหายของแผ่นเหล็กรับแรงเฉือนประเภท รอยฉีกขาดของแผ่นเหล็กฯ ตามแนวสลักยึด , สลักยึดหลวม เสียหาย หรือหลุดหายไป และ รอยฉีดขาดตลาอดความยาวของรอยเชื่อมระหว่างเสากับแผ่นเหล็ก
  • คานเหล็กหลุดออกจากฐานรองรับ
  • เสาเหล็กมีความเสียหายประเภทการวิบัติบริเวณจุดต่อทาบเสาเหล็ก และความเสียหายบริเวณถ่ายเทแรงประเภทการฉีดขาดตลอดความลึกที่ส่วนเอวของเสาหรือที่แผ่นเหล็กเสริมความหนา

ระดับที่ 3 มีความเสียหายรุนแรง คือ อาคารปรากฏลักษณะความเสียหายของโครงสร้างดังต่อไปนี้

  • อาคารมีการเคลื่อนที่สัมพัทธ์ระหว่างชั้น (interstory drit) ที่ชั้นใดชั้นหนึ่งมากกว่า 1 เปอร์เซ็นต์
  • อาคารปรากฏความเสียหายประเภทต่อไปนี้ ตั้งแต่สองตำแหน่งขึ้นไปที่ชั้นใดชั้นหนึ่ง การโก่งเดาะด้านข้างเนื่องจากแรงบิดของหน้าตัดคาน , รอยฉีดขาดที่ส่วนปีกบริเวณใกล้รอยเชื่อม , การวิบัติบริเวณจุดต่อทาบเสาเหล็ก , รอยฉีดขาดของแผ่นเหล็กฯ ตามแนวสลักยึด , การครากหรือโก่งเดาะของแผ่นเหล็กฯ , สลักยึดหลวม เสียหาย หรือหลุดหายไป , รอยฉีดขาดตลาดความยาวของรอยเชื่อมระหว่างเสากับแผ่นเหล็กฯ , การฉีดขาดบางส่วนที่ส่วนเอวของเสา , การฉีดขาดตลาดความลึกที่ส่นวเอวของเสาหรือที่แผ่นเหล็กเสริมความหนา , การฉีดขาดตลอดหน้าตัดเสา

ทั้งนี้ การระบุระดับความเสียหายด้วยแบบสำรวจความเสียหายขั้นต้นฯ ผู้สำรวจควรตระหนักว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นเพียงหลักเกณฑ์ทั่ว ๆ ไปเพื่อให้ผู้สำรวจที่ไม่ใช่วิศวกรโครงสร้างหรือผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ในการสำรวจความเสียหาย ประเมินระดับความเสียหายในขั้นต้นได้เท่านั้น

อ่านรายละเอียดทั้งหมด : คู่มือการสำรวจความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างอาคารหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว

ตรวจสอบความเสียหาย แผ่นดินไหว กรมโยธาธิการและผังเมือง
คู่มือสำรวจความเสียหายเบื้องต้น หลังแผ่นดินไหวอาคาร - โครงสร้างเสียหายระดับไหน

Bottom-VNL2025 Bottom-VNL2025

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ