อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา เปิดตัวครอบครัวค่างแว่นถิ่นใต้ ต้อนรับสมาชิกใหม่ 3 ตัว เพราะช่วงนี้ค่างแว่นบางตัวอยู่ในช่วงตั้งท้อง จึงคาดว่าจะมีเพิ่มอีก 3 – 4 ตัว ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา มีครอบครัวค่างแว่นถิ่นใต้ถึง 2 ครอบครัว ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 20 – 25 ตัว ซึ่งค่างแว่นถิ่นใต้มักออกหากินยอดไม้และลูกไม้ในบริเวณรอบๆที่ทำการอุทยาน
รู้จักค่างแว่นถิ่นใต้
ค่างแว่นถิ่นใต้ (Trachypithecus obscurus) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทค่าง
มีลักษณะเด่นคือวงกลมสีขาวรอบดวงตาคล้ายแว่นตา จึงเป็นที่มาของชื่อ ค่างแว่นส่วนขนาดลำตัวยาวประมาณ 45-57 เซนติเมตร หางยาว 66-78 เซนติเมตร และมีน้ำหนักระหว่าง 6-9 กิโลกรัม ค่างที่โตเต็มวัยจะมีขนบริเวณหลังเป็นสีเทาเข้มเกือบดำ ขนบริเวณข้างใบหน้า ปลายมือ และปลายเท้ามีสีเทาเข้ม โคนขาและโคนแขนด้านนอกเป็นสีเทาจาง ลักษณะที่ใช้จำแนกชนิดนี้ได้ชัดเจนคือขนหางสีดำ ส่วนลูกค่างแรกเกิดจะมีขนสีทอง
ค่างแว่นถิ่นใต้มี 7 ชนิดย่อย อาศัยอยู่ตามป่าเขาหินปูนที่มีโขดหินสูงชัน รวมถึงป่าดงดิบและสวนยางพารา พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ พม่า ไทย และมาเลเซีย ในพม่าพบได้บริเวณเทือกเขาตะนาวศรีลงไปทางใต้ ส่วนในมาเลเซียพบตามเกาะต่าง ๆ เช่น เกาะลังกาวีและเกาะปีนัง
ไทยค่างแว่นถิ่นใต้สามารถพบได้ในหลายพื้นที่
- อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด และเขาล้อมหมวก ใกล้อ่าวมะนาว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
- อุทยานแห่งชาติตะรุเตา และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จังหวัดสตูล
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- วัดถ้ำเขาพลู อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร
- หาดไร่เลย์ จังหวัดกระบี่
ค่างแว่นถิ่นใต้เป็นสัตว์กินพืช รับประทาน ใบไม้ ผลไม้ และเมล็ดพืช เป็นหลัก โดยมีแมลงเป็นอาหารเสริม กินอาหารเฉลี่ยวันละ 2 กิโลกรัม หรือประมาณ 1 ใน 4 ของน้ำหนักตัว และค่างแว่นถิ่นใต้มักอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ประมาณ 4-30 ตัว สามารถปรับตัวอยู่ในป่าได้หลายประเภท ตั้งแต่เทือกเขาสูงจนถึงชายป่าริมทะเล มักเลือกอาศัยตามป่าที่มีต้นไม้สูง อาหารที่บริโภคในแต่ละวันเฉลี่ยราว 2 กิโลกรัม
ค่างแว่นถิ่นใต้เป็นสัตว์ที่ไม่คุ้นเคยกับมนุษย์ มีนิสัยขี้อายและมักหลบหนีเมื่อพบเจอมนุษย์ ขณะออกหากินเป็นฝูง มักมีค่างตัวหนึ่งทำหน้าที่เฝ้าระวังภัย โดยนั่งสังเกตการณ์บนต้นไม้เงียบ ๆ เพิ่มเติม คือ ค่างแว่นถิ่นใต้ที่อาศัยอยู่ทางภาคใต้ของไทยจะมีช่วงออกลูกระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม ใช้ระยะเวลาตั้งท้องประมาณ 140-150 วัน อีกทั้งยังเป็นสัตว์ที่มีอายุขัย ประมาณ 25 ปีเท่านั้น
สถานภาพปัจจุบันของค่างแว่นถิ่นใต้ จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (VU) ตามการประเมินของ ประเทศไทย (2023) ใกล้สูญพันธุ์ (EN) ตาม IUCN Red List (2020) อยู่ใน CITES Appendix II อนุญาตให้ค้าภายใต้การควบคุมอย่างเคร่งครัด (2024) สำหรับใครที่อยากชมความน่ารักของฝูงค่างแว่นถิ่นใต้ ที่กระโดดเล่นกันไปมาตามต้นไม้ และอวดลูกๆตัวจิ๋ว สามารถไปเยี่ยมเยียนเหล่าค่างแว่นใต้ได้ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา หรือที่ทำการอุทยาน (แหลมโตนด)