ไม่ต้องกังวล! เพจดังชี้ กัมพูชาฟ้องศาลโลก ไทยไม่ไปขึ้นก็จบ ฟ้องไม่ได้!

โดย PPTV Online

เผยแพร่

เพจดังชี้ กรณีกัมพูชามีมติยื่นฟ้องศาลโลก ปมพิพาทไทย-กัมพูชา ลั่นไทยไม่ไปขึ้นก็จบ ฟ้องไม่ได้ เพราะต้องได้รับความยินยอมจากคู่ความทั้งสองฝ่าย

2 มิ.ย. 68 เฟซบุ๊กเพจ thaiarmedforce.com อธิบายถึงกรณีที่สภาล่างและสภาสูงของกัมพูชา มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นชอบให้นายกฯ กัมพูชา ยื่นเรื่องกรณีข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศว่า ทุกอย่างจะไม่มีผลใด ๆ กับประเทศไทยหากไทยไม่ยินยอม

thaiarmedforce.com อธิบายว่า แม้มาตรา 93 ของกฎบัตรสหประชาชาติจะระบุว่าสมาชิกสหประชาชาติทุกประเทศเป็นสมาชิกของธรรมนูญศาลโลก แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกประเทศต้องขึ้นศาลโลกถ้ามีใครนำคดีไปฟ้อง

คอนเทนต์แนะนำ
นายกฯ - ภูมิธรรม เบรกกองทัพปิดด่านชายแดน หลังผู้นำกัมพูชาต่อสายร้องขอ
'มาริษ' ยันไทย-กัมพูชาพร้อมใช้ 'JBC-GBC-RBC' หาข้อยุติชายแดนอย่างสันติ
สภากัมพูชามีมติเอกฉันท์ เห็นชอบยื่นข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชาต่อศาลโลก

สภากัมพูชามีมติเอกฉันท์ เห็นชอบยื่นข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชาต่อศาลโลก FB/Samdech Hun Sen of Cambodia
สภากัมพูชามีมติเอกฉันท์ เห็นชอบยื่นข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชาต่อศาลโลก

เงื่อนไขการขึ้นศาลโลก

1. ต้องได้รับความยินยอมจากคู่ความทั้งสอง (Consent-based Jurisdiction)

หมายถึงทั้งสองฝ่ายยินยอมที่จะนำคดีใดคดีหนึ่งเข้าสู่ศาลโลก ซึ่งต้องได้รับความยินยอมจากทั้งสองฝ่าย ซึ่งในกรณีนี้ถ้าไทยไม่ยินยอมก็ไม่สามารถพิจารณาคดีได้

2. การประกาศยอมรับอำนาจศาลผ่านมาตรา 36 วงเล็บ 2 ของธรรมนูญศาลโลก

ซึ่งระบุว่าสมาชิกของธรรมนูญศาลโลก (หมายถึงทุกประเทศที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติและอื่น ๆ ที่เลือกยอมรับศาลโลก) สามารถประกาศการยอมรับอำนาจศาลภาคบังคับได้ ซึ่งมีบางประเทศก็เลือกประกาศยอมรับอำนาจศาลภาคบังคับ ซึ่งไทยถอนคำยินยอมออกไปแล้วหลังคดีปราสาทพระวิหาร

3. การยอมรับอำนาจศาลแบบจำกัด

โดยประเทศต่าง ๆ สามารถยอมรับอำนาจศาลแบบจำกัดเฉพาะบางคดีหรือบางเรื่องได้ ซึ่งแล้วแต่แต่ละประเทศจะพิจารณา แต่ไทยไม่ได้ยอมรับเลยสักเรื่อง

4. การยอมรับอำนาจศาลเฉพาะคดี

ประเทศต่าง ๆ สามารถเลือกเฉพาะบางคดีหรือข้อขัดแย้ง และยอมรับอำนาจศาลโลกเพื่อให้ศาลโลกมีอำนาจตัดสินเฉพาะคดีนั้น ๆ ไม่เกี่ยวกับคดีอื่นได้ ซึ่งหลังคดีปราสาทพระวิหารไทยก็ไม่ได้ยอมรับเลยสักคดี

5. การขึ้นศาลโลกตามที่สนธิสัญญาระหว่างประเทศกำหนด

ซึ่งสนธิสัญญาระหว่างประเทศหลายสนธิสัญญาจะมีข้อกำหนดว่าถ้ามีความขัดแย้งให้นำความขัดแย้งนั้นขึ้นไปสู่ศาลโลกเพื่อตัดสิน สนธิสัญญาเหล่านั้นก็เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อนุสัญญาว่าด้วยการปราบปรามความผิดต่อความปลอดภัยของอากาศยาน อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ฯลฯ ซึ่งถ้าไทยเป็นรัฐภาคีหรือให้สัตยาบันในสนธิสัญญาใดก็ต้องขึ้นศาลโลกแค่เฉพาะคดีที่เกี่ยวกับสนธิสัญญานั้น ยกเว้นไทยตั้งข้อสงวนเอาไว้

ทั้งนี้ พิจารณาจากท่าทีของไทยหลังกรณีปราสาทพระวิหาร ไทยไม่เคยมีท่าทียอมรับหรือต้องการรับอำนาจของศาลโลกไม่ว่ากรณีใด ๆ ตรงนี้สืบค้นได้จากมติคณะรัฐมนตรีของไทยที่เวลาที่เข้าเป็นรัฐภาคีในสนธิสัญญาระหว่างประเทศใด มักจะกำหนดและตั้งข้อสงวนในการไม่รับอำนาจของศาลโลกทุกครั้ง เช่น

1. การเป็นภาคีของอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการปราบปรามการวางระเบิดเพื่อการก่อการร้าย ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้กำหนดเมื่อปี 2558 ว่าให้จัดทำข้อสงวนว่าไทยจะไม่ผูกพันตามข้อ 20 วรรค 1 ของอนุสัญญาฯ ซึ่งกำหนดให้รัฐภาคีระงับข้อพิพาทกัน โดยอนุญาโตตุลาการ หรือศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

2. การเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองทางกายภาพของวัสดุนิวเคลียร์และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้กำหนดเมื่อปี 2561 ว่าไทยจะไม่รับกระบวนการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการและการเสนอเรื่องสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

3. การเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งนำมาสู่การออก พ.ร.บ.อุ้มหายที่สามารถลงโทษทหารเกณฑ์ที่ถูกซ้อมจนตายได้แล้วเป็นคดีแรก แต่คณะรัฐมนตรีก็ยังมีมติเมื่อปี 2567 ซึ่งวางหลักไว้ว่าให้ทุกส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดว่า ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องจัดทำหนังสือสัญญา ซึ่งมีข้อบทให้อำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice : ICJ) มีเขตอำนาจเหนือข้อพิพาทตามหนังสือสัญญานั้น ให้จัดทำข้อสงวนไม่รับอำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไว้ทุกเรื่อง เพื่อมิให้กระทบต่ออำนาจอธิปไตยของชาติ

อนึ่ง กรณีปราสาทพระวิหารนั้นต่างออกไป เพราะไทยยอมรับอำนาจศาลโลกแล้วในคดีนั้น และเมื่อคดีตัดสินแล้ว คำพิพาษามีผลต่อเนื่อง ดังนั้นในปี 2554 ที่กัมพูชายื่นตีความคำพิพากษาในคดีเก่านี้ ไทยจึงจำเป็นต้องไปขึ้นศาลโลก เพราะถ้าไทยไม่ไปขึ้นศาลโลก ศาลอาจพิจารณาความจากกัมพูชาเพียงฝั่งเดียวได้ และในอนาคตถ้ามีการยื่นตีความในคดีนี้อีก ไทยก็ควรต้องไปขึ้นศาลอีกเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตน แต่เป็นเฉพาะกรณีคดีนี้เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับคดีอื่นใด

ดังนั้น กล่าวโดยสรุปคือ การประกาศของใครในกัมพูชาว่าจะฟ้องศาลโลกหรืออะไรพวกนี้ "เป็นสิ่งที่ไทยไม่ต้องสนใจ" เพราะกัมพูชาไม่มีอำนาจพาไทยขึ้นสู่ศาลโลกถ้าไทยไม่ยอม ซึ่งที่ผ่านมา ไม่มีหลักฐานใด ๆ โดยสิ้นเชิงว่ารัฐบาลหรือหน่วยงานใดของไทยจะยอมให้มีคดีไหนขึ้นสู่ศาลโลก

ดังนั้น ในกรณีนี้ เมื่อเข้าสู่การประชุม JBC ไทยแค่แจ้งในที่ประชุมและบันทึกในรายงานการประชุมว่า "ไทยไม่ยินยอมรับเขตอำนาจศาลในกรณีนี้และกรณีไหน" เท่านี้ก็จบแล้ว

ถ้าจะให้เหตุผลก็คือ การมีอยู่ของ MOU 43 ได้กำหนดกลไกในการปักปันและแก้ไขปัญหาชายแดนไทยกัมพูชาไว้อยู่แล้ว และกลไกนั้นยังทำงานได้ถ้าเพียงแต่กัมพูชาเคารพกลไกที่ตนเองลงนามไว้เอง ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ต้องไปพึ่งกลไกอื่น เช่น ศาลโลก

ส่วนถ้านักการเมืองกัมพูชาจะโพสโวยวายอะไร ก็ปล่อยเขาไป เพราะการโพสฝ่ายเดียวแบบนี้ไม่มีผลใด ๆ ทางกฎหมายทั้งสิ้น

Bottom-VNL2025 Bottom-VNL2025

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ