เหตุการณ์ปะทะบริเวณช่องบก จังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างทหารไทยและกัมพูชาเมื่อไม่นานนี้ สะท้อนถึงความท้าทายด้านการปักปันเขตแดนที่ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ แม้ทั้งสองฝ่ายจะเน้นย้ำถึงการใช้สันติวิธีและความร่วมมือผ่านการเจรจาทวิภาคี แต่ก็สร้างความกังวลในสังคมไม่น้อย เหตุการณ์นี้จึงเป็นโอกาสให้ประชาชนโดยเฉพาะเหล่าชายไทย ได้ทบทวนความพร้อมในด้านกำลังพลสำรอง รวมถึงกระบวนการเรียกกำลังพลและการจัดเตรียมความพร้อมในสถานการณ์ต่าง ๆ
จากข้อมูลของ ระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเรียกกำลังพลสำรองเข้ารับราชการทหาร พ.ศ. 2560 และ ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยกิจการกำลังพลสำรอง พ.ศ. 2559 สามารถสรุปข้อมูลการเรียกกำลังพลสำรองได้ ดังนี้
กำลังพลสำรองคืออะไร?
กำลังพลสำรอง หรือที่เรียกกันว่า ทหารกองหนุน หมายถึง ผู้ที่เคยผ่านการเป็นทหารแล้ว แต่ปลดประจำการกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่
- ผู้ที่สำเร็จการฝึกวิชาทหาร (ร.ด.) ตั้งแต่ชั้นปีที่ 3 ขึ้นไป และขึ้นทะเบียนกองประจำการจนปลดเป็นทหารกองหนุน
- ผู้ที่ปลดจากกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) เมื่อครบกำหนดตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
เมื่อเกิดสงคราม เรียกกำลังพลสำรองอย่างไร?
เมื่อมีเหตุการณ์สงครามหรือความไม่สงบเกิดขึ้น กระทรวงกลาโหม มีอำนาจในการออกคำสั่ง ระดมพล เพื่อเสริม กำลังพลประจำการ โดยจะดำเนินการเรียกพลกำลังพลสำรองตามขั้นตอน ดังนี้
- ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกส่งหนังสือผู้ว่าฯ
- ผู้ว่าราชการจังหวัด ส่งหนังสือถึงนายอำเภอ
- นายอำเภอ ส่งหนังสือถึง กำนัน/นายกเทศมนตรี
- กำนัน/นายกเทศมนตรี ส่งหนังสือถึงผู้ใหญ่บ้าน
- ผู้ใหญ่บ้าน เรียกบุคคลตามบัญชีมารายงานตัว
ลำดับการเรียกทหารกองหนุนจากทหารเกณฑ์
สำหรับ ทหารกองหนุน ที่ปลดจาก ทหารเกณฑ์ (หรือเรียกว่า ทหารกองหนุนประเภทที่ 1) จะมีการจัดลำดับตามอายุ ดังนี้
- ชั้นที่ 1: อายุต่ำกว่า 30 ปีบริบูรณ์
- ชั้นที่ 2: อายุ 30 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่ถึง 40 ปี
- ชั้นที่ 3: อายุ 40 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่ถึง 46 ปี
- พ้นกำหนดการรับราชการทหาร: อายุเกิน 46 ปีบริบูรณ์ โดยปกติ กำลังพลสำรอง ที่อายุน้อยกว่ามักถูกเรียกตัวก่อน เนื่องจากมีความพร้อมและทักษะทางทหารยังคงสดใหม่
เกณฑ์การเรียกระดมพลในกรณีสงคราม
เมื่อต้องระดมพลเต็มรูปแบบ กองทัพจะพิจารณาจาก
- ความต้องการกำลังพลเฉพาะทาง เช่น แพทย์สนาม, ช่างซ่อมบำรุง, หน่วยรบพิเศษ
- ความพร้อมด้านสุขภาพ
- ภูมิลำเนาของทหาร
- สถานะครอบครัวและสังคม (บางกรณีอาจขอผ่อนผันได้)
กำลังพลสำรอง ไม่ว่าจะเป็น ทหารเกณฑ์ปลดประจำการ หรือ นักศึกษาวิชาทหาร (ร.ด.) ต่างถือเป็นส่วนสำคัญในการเสริม กองทัพไทย และมีโอกาสถูกเรียกตัวหากประเทศต้องเผชิญ ภัยคุกคามทางความมั่นคง หรือสงคราม ดังนั้นผู้ที่อยู่ในสถานะนี้ควรรู้สิทธิ หน้าที่ และเตรียมตัวให้พร้อมเสมอ หากวันหนึ่งต้องกลับไปปฏิบัติภารกิจเพื่อชาติอีกครั้ง