วันที่ 7 มิถุนายน 2568 เวลา 16.47 น. นายนิกรเดช พลางกูร อดีตกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวพัฒนาการสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ระบุว่า ตามที่เกิดเหตุปะทะระหว่างทั้งสองฝ่ายเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 บริเวณช่องบก อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งฝ่ายไทยมีความจำเป็นต้องป้องกันตนเอง และปกป้องอธิปไตยของประเทศ โดยเป็นไปอย่างเหมาะสม ได้สัดส่วน และสอดคล้องไปกัดกฎหมายระหว่างประเทศและแนวปฏิบัติสากล
ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ฝ่ายไทยได้ใช้ความอดทนอดกลั้น และมุ่งแก้ไขสถานการณ์ด้วยสันติวิธี เรียกร้องให้ฝ่ายกัมพูชาพยายามลดความตึงเครียดในพื้นที่ และจำกัดความขัดแย้งให้อยู่เพียงจุดเกิดเหตุ โดยมีการหารือพูดคุยในทุกระดับ ทั้งระดับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกองทัพบกของทั้งสองประเทศ บนพื้นฐานของความสุจริตใจ และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยกับกัมพูชา ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านและประเทศสมาชิกอาเซียน
ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็เห็นพ้องแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี โดยผ่านกลไกทวิภาคีที่มีอยู่แล้วมาโดยตลอด
ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2568 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของทั้งสองประเทศ ได้พบหารือกันที่จังหวัดสระแก้ว เพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยฝ่ายไทยได้ย้ำอีกครั้งถึงความขำเป็นในการลดระดับความตึงเครียดบริเวณชายแดน และเสนอให้มีการปรับกำลังทหารให้เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติเดิมก่อนเกิดเหตุขัดแย้ง เพื่อลดโอกาสการปะทะทางทหาร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนของทั้งสองประเทศ
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายที่ฝ่ายกัมพูชาได้ปฏิเสธทันที ต่อข้อเสนอในการปรับกำลัง และยังมีการเสริมกำลังทหารในพื้นที่ชายแดนอย่างต่อเนื่อง และปฏิเสธที่จะปฏิบัติตาม MOU ปี 2543 หรือปี ค.ศ. 2000 บนพื้นฐานการเจรจาโดยสันติวิธี ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ทำให้สถานการณ์ในพื้นที่มีความเปราะบาง และตึงเครียดมากยิ่งขึ้น ซึ่งการดำเนินการข้างต้น แสดงให้เห็นถึงการขาดเจตนารมณ์และความจริงใจ ที่จะร่วมมือกับฝ่ายไทยในการช่วยลดและระงับความตึงเครียดที่มีอยู่เดิมและทำให้สถานการณ์กลับมาเป็นปกติ
ดังนั้น เป็นไปตามมติที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2568 และเพื่อเป็นการรักษษความมั่นคงปลอดภัยตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ได้มีข้อสรุปว่า ไทยจะใช้มาตรการควบคุมการเปิด-ปิดจุดผ่านแดนไทย-กัมพูชา โดยได้มอบหมายให้กองทัพภาคที่ 1 และกองทัพภาคที่ 2 รวมถึงกองกำลังจันทบุรี-ตราด เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่เหมาะสมในการผ่านแดนตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา และให้มีการปรับระดับความเข้มข้นให้เป็นไปตามระดับความตึงเครียดของสถานการณ์ในแต่ละจุด
พร้อมยืนยันว่า มาตรการนี้เป็นไปเพื่อการรักษาความปลอดภัยของทั้งประชาชนไทยและกัมพูชาในบริเวณชายแดน ให้มีความสงบเรียบร้อยในบริเวณดังกล่าว และไทยจะพยายามไม่ให้มาตรการดังกล่าวมีผลกระทบต่อการค้าและความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งสองประเทศที่อาศัยอยู่บริเวณแนวชายแดน
ฝ่ายไทยขอเรียกร้องอีกครั้งหนึ่ง ให้กัมพูชาลดความตึงเครียดบริเวณชายแดนเพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์ลุกลามโดยไม่จำเป็น ซึ่งจะส่งผลเสียต่อประชาชนทั้งสองฝ่าย
พร้อมย้ำว่า ฝ่ายไทยยังพร้อมที่จะใช้กลไกทวิภาคี โดยเฉพาะกลไกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Committee : JBC) ไทย-กัมพูชา ที่จะมีในวันที่ 14 มิถุนายนที่จะถึงนี้ บนพื้นฐานของสันติวิธี อย่างมีความเคารพ และจริงใจต่อกันเพื่อความสงบสุขของทั้งสองประเทศ