คดีนี้ตำรวจสอบสวนกลาง ได้บูรณาการกำลังหลายหน่วยงาน จับกุมผู้กระทำผิดได้ 7 คน แบ่งเป็น ผู้ต้องหาที่ทำหน้าที่เป็นนายหน้าคอยจัดหาเหยื่อแรงงาน 5 คน ไต๋ก๋งเรือ 1 คน และ เจ้าของเรือ 1 คน คงเหลือผู้ต้องหาที่ยังอยู่ระหว่างหลบหนีอีก 3 ราย
เจ้าหน้าที่ระบุว่า พฤติกรรมที่กลุ่มผู้ต้องหาล่องเรือไปทำประมงยังน่านน้ำประเทศเพื่อนบ้านนั้น เป็นการแอบลักลอบเดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมายไม่ได้มีการจัดทำเอกสารคนประจำเรือ หรือ ซีแมนบุ๊ค รวมถึงเอกสารการเดินทาง เข้า-ออกของเรือประมงลำเกิดเหตุ
ย้อนผลงาน รบ.กับการปราบปรามค้ามนุษย์ ปี 58
ย้อนลงพื้นที่ค่ายกักกัน “โรฮิงญา” สงขลา
รวมถึงไม่ได้มีการแจ้งหน่วยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ส่อเจตนาปกปิดข้อมูลของลูกเรือและเรือลำที่ใช้
ด้านตำรวจชุดจับกุม บอกว่า คดีนี้เจ้าหน้าที่รับสืบสวนสอบสวนตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 เนื่องจากทางการมาเลเซีย ผลักดันแรงงานไทยกลับประเทศทางด่านชายแดน อ.สะเดา สงขลา 44 คน แบ่งเป็นแรงงานประมงจำนวน 40 คน และแรงงานอื่น 4 คน จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบมีผู้เสียหายเข้าข่ายการค้ามนุษย์ 3 ราย จึงดำเนินการขยายผล
จากแนวทางการสืบสวนสอบสวน คดีนี้มีผู้ต้องหาแบ่งเป็นสามส่วน คือ นายหน้า เจ้าของเรือ และไต๋ก๊งเรือ โดยกลุ่มนายหน้า จะหลอกชาวบ้านที่เข้ากรุงเทพมาหางานทำ หลอกว่ามีงานที่ดีให้ทำ
เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อ กลุ่มนายหน้าก็จะพาผู้เสียหายไปพักอาศัยที่บ้านเช่าหลังหนึ่งที่ได้จัดเตรียมไว้ใน อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี เป็นการชั่วคราวเพื่อรอเวลา ระหว่างนั้นบังคับให้เหยื่อเสพยา หรือกินดื่มจนหนำใจ อยู่ในโอวาทเชื่อฟัง
จากนั้นกลุ่มนายหน้าได้พาผู้เสียหายไปส่งมอบให้กับเจ้าของเรือประมง ที่ท่าเรือแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร กลุ่มนายหน้าจะได้รับเงินค่าตอบแทนจากเจ้าของเรือ หัวละ 50,000 บาท เมื่อเหยื่อลงเรือประมงแล้ว จะแอบลักลอบเดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย เพื่อไปทำประมงในเขตน่านน้ำประเทศมาเลเซีย ถูกบังคับใช้แรงงานอย่างทารุณ โดยไม่ได้ค่าแรงตามที่ตกลง
สำหรับผลปฏิบัติการยุทธการ เรือมนุษย์ ตำรวจตรวจค้นเป้าหมายทั้งหมด 6 จุด ตามหมายจับ 19 หมายจับ ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 16 หมาย โดยผู้ต้องหา 10 คน สามารถดำเนินการจับกุมได้แล้ว 7 คน เจ้าหน้าที่จะได้ปราบปรามอย่างต่อเนื่องต่อไป
ปัญหาค้ามนุษย์ในแรงงานประมงไทย ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ แก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง เพราะถูกโจมตีว่ามีการบังคับใช้แรงงานทาศ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานของไอยูยู (การประมงผิดกฎหมาย ไร้การควบคุม) จนเกิดการสังคยานาภาคประมงครั้งใหญ่ในยุค คสช.
ไม่เพียงแค่แรงงานไทย ที่ถูกกระบวนการนายหน้าหลอกลวง และพาขึ้นเรือประมงใช้แรงงานเข้าข่ายค้ามนุษย์ ทีมข่าวพีพีทีวี ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบแรงงานเมียนมาร์ ถูกลวงขึ้นเรือประมงถูกหลอกค้ามนุษย์ บังคับใช้แรงงานอย่างหนัก ถูกทำร้ายร่างกาย และบังคับเสพยาเช่นกัน!
หลังปฏิบัติการตำรวจสอบสวนกลาง ตรวจสอบพบแรงงานไทย ถูกหลอกขึ้นเรือทำประมงน่านน้ำมาเลเซีย อย่างน้อย 3 คน โดยมีนายจ้างคอยจัดหา หลอกลวง และพาส่งขึ้นเรือ จากนั้นบังคับให้ทำงานเกินเวลา บังคับเสพยาเสพติด ทรมานร่างกาย เข้าข่ายค้ามนุษย์ นั้น
ล่าสุด คุณเอกรัฐ ตะเคียนนุช ทีมข่าวพีพีทีวี ตรวจสอบข้อมูลเบื้องลึก พบมีแรงงานเมียนมาถูกหลอกลวงในลักษณะเดียวกัน โดยอดีตหัวหน้าแรงงานเมียนมาร์รายนี้ ระบุว่า ในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด19 ที่สมุทรสาคร เมื่อช่วงต้นปี 2564 ทำให้เค้าและเพื่อนแรงงานติดเชื้อและตกงานในที่สุด
ปรากฏว่าช่วง เดือนมีนาคม 2564 เริ่มมีนายหน้าติดต่อมาหาอ้างว่าจะพาไปทำงานได้รับค่าตอบแทนสูงระดับหนึ่ง
เมื่อตกลงกันเรียบร้อย นายหน้ากลุ่มนี้ จะพาไปส่งต่อให้กับเจ้าของเรือประมงใน พื้นที่ “อำเภอเมืองจังหวัดสมุทรสาคร” ในช่วงที่เริ่มมีการเปิดท่าเรือที่มหาชัย ล่องออกสู่อ่าวไทยเพื่อทำประมง
โดยในระหว่างการล่องเรือนั้น พวกเค้า เริ่มโดนบังคับใช้แรงงานอย่างหนัก แทบไม่ได้หยุดพักผ่อน!
คำบอกเล่า และยืนยันประสบการณ์ตรงบนเรือของแรงงานเมียนมาร์รายนี้ โดยเจ้าตัวระบุพฤติกรรมของคนบนเรือ เพิ่มเติมว่า ระหว่างที่อยู่บนเรือจะมีไต้ก๋งเรือควบคุมและบังคับให้ทำงานหนักต่อเนื่อง ในแต่ละวัน ตั้งแต่ช่วงเช้า ทั้งการหว่านแห ลากอวน ทำประมง ดูแลความสะอาดบนเรือ หุงหาอาหารการกินของทุกคนบนเรือ พวกเขาต้องทำงานแต่ละวัน ตั้งแต่ หกโมงเย็น (18.00น.) - บ่ายสาม (15.00น.)ของวันรุ่งขึ้น
โดยแต่ละวันจะได้นอนหลับพักผ่อนไม่ถึง 3-4 ชั่วโมง หากขัดขืนต่อสู้จะถูกทำร้ายร่างกาย ทั้งทุบตี ถีบ หรือใช้อาวุธฟาด พร้อมยืนยัน นำยาเสพติดชนิดร้ายแรงทั้ง “ยาบ้า-ยาไอซ์” มาบังคับให้เสพ เพื่อให้อยู่ในความควบคุมไม่ให้หลบหนี
ขณะเดียวกัน คุณเอกรัฐสอบถามแรงงานชาวเมียนมาร์รายนี้ ว่า “จุดรับส่งเข้าออกเดินเรือ” ที่พบกระบวนการค้ามนุษย์ ตามรายงานของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง คือพื้นที่ใด
แหล่งข่าวรายนี้ ยืนยันกับคุณเอกรัฐว่า เป็น “สะพานปลา" ของเอกชน ที่เป็นจุดเข้าออกเดินเรือหลักจุดหนึ่งในพื้นที่ละแวกนั้น
ทีมข่าวพีพีทีวีจึงลงพื้นที่ไปตรวจสอบเพิ่มเติม โดยมีแรงงานหนึ่งรายให้ข้อมูลถึงจุดที่มีการส่งต่อแรงงานเพื่อขึ้นเรือ และออกเรือ รวมถึงจุดเข้าท่าเรือหลัก พร้อมยอมรับว่า พอทราบถึงกระบวนการค้ามนุษย์ที่เคยเกิดขึ้นที่นี่ แต่ไม่ขอให้ข้อมูลในเชิงลึกใดๆ
ขณะเดียวกัน ได้ยังสอบถาม เจ้าหน้าที่องค์การสะพานปลา จังหวัดสมุทรสาคร ที่ทำหน้าที่ควบคุม ก็ปฏิเสธจะตอบคำถามถึงกระบวนการที่เกิดขึ้น ย้ำ ท่าเรือของรัฐ เรือทุกลำถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ขอตอบถึงประเด็นเรื่อง “เถ้าแก่” เจ้าของเรือประมงที่พัวพันกระบวนการค้ามนุษย์ว่าเป็นใคร และมีรายเดียวหรือไม่