นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผย กรณีนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก จำเลยในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ได้วางแผนหลบหนีขณะออกไปศาลอาญาระหว่างพิจารณาคดี โดยฉวยโอกาสในขณะที่ขออนุญาตไปเข้าห้องน้ำนั้น
นายอายุตม์ กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าว ตนได้รับรายงานจากผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครจากกรณีนี้ ว่า ตามที่ศาลอาญาได้มีคำสั่งเบิกตัวนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก ไปศาลเพื่อสืบพยานโจทก์ ในวันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.30 น.นั้น
เปิดพิกัดบ้านหลวง 5 จังหวัด ผ่าน ครม. แสนหลังให้ข้าราชการชั้นผู้น้อย
เช็ก!เส้นทางเลี่ยงรถติด ช่วงเทศกาลปีใหม่ 66
โดยเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. นายประสิทธิ์ ได้พยายามหลบหนีไปจากการควบคุมของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ประจำศาลอาญา โดยแจ้งเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมว่า มีอาการปวดท้อง ท้องเสีย และขออนุญาตเข้าห้องน้ำ เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมจึงนำตัวนายประสิทธิ์ ไปเข้าห้องน้ำสำหรับผู้มาติดต่อราชการที่บริเวณชั้น 9 และยืนเฝ้าอยู่ที่บริเวณหน้าห้องน้ำตลอดเวลา
และในเวลาต่อมา เมื่อนายประสิทธิ์ ได้ทำธุระเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุม พบว่า นายประสิทธิ์ ได้เดินออกจากห้องน้ำมา พร้อมกับเปลี่ยนชุดเป็นชุดไปรเวท (มิใช่ชุดเครื่องผู้ต้องขัง) และถอดกุญแจเท้าออกแล้ว (คาดว่าน่าจะมีการนัดแนะเตรียมการไว้กับบุคคลภายนอก) เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมจึงได้วิ่งติดตามจับกุมตัวได้ที่บริเวณบันได ชั้น 3 และได้ขอกำลังเสริมจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ประจำศาล เจ้าพนักงานตำรวจศาล และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำศาล มาช่วยกันควบคุมตัว พร้อมนำตัวกลับมาคุมขังยังห้องควบคุมผู้ต้องขังประจำศาลด้านล่างได้เป็นที่เรียบร้อย ทำให้นายประสิทธิ์ ไม่สามารถหลบหนีต่อไปได้ โดยเจ้าหน้าที่ได้รายงานให้ศาลอาญาทราบ และทางศาลอาญาได้แจ้งกองบังคับการปราบปรามเพื่อดำเนินการต่อไป
นายอายุตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงและรายละเอียดกรณีดังกล่าว จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และขอให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน โดยมี ผู้อำนวยการกองทัณฑวิทยา เป็นประธานกรรมการ ในการสอบหาข้อเท็จจริงในครั้งนี้ เพื่อดำเนินการวางมาตรการและการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ผู้ต้องขังหลบหนีเช่นนี้ได้อีก
ด้านศาลอาญา ได้เปิดข้อมูลว่า ภายหลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบสวนผู้ต้องสงสัยประมาณ 3 คนที่เป็นผู้ใกล้ชิดจำเลย เบื้องต้นทราบว่า ให้การที่เป็นประโยชน์อยู่บ้าง โดยหลังจากนี้จะดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงทุกส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป หากพบผู้ร่วมวางแผนและให้การช่วยเหลือต่างๆ เพื่อให้จำเลยมีโอกาสจะหลบหนี ต้องรวบรวมหลักฐานดำเนินคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 190 ฐานผู้ใดหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจของศาล ของพนักงานอัยการ ของพนักงานสอบสวน หรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพิจารณาตั้งข้อกล่าวหากระทำละเมิดอำนาจศาลฯ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ