มหาวิทยาลัยไทยมีแล้ว ให้นิสิตใช้ “ChatGPT” ทำการบ้าน

โดย PPTV Online

เผยแพร่

คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ให้นิสิตทำการบ้านส่งด้วย ChatGPT เน้นให้ทดลองใช้เทคโนโลยีเพื่อรู้เท่าทันมัน

เรื่องของแชตบอตอัจฉริยะ “ChatGPT” กับวงการการศึกษาเป็นที่พูดถึงอย่างมากในช่วงนี้ เมื่อเจ้าปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า มันสามารถทำการบ้าน ข้อสอบ หรือแม้กระทั่งงานวิจัยได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้หลายสถาบันการศึกษาทั่วโลกพากันสั่งแบนเจ้าแชตบอตตัวนี้

แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีหลายสถาบันการศึกษาที่เลือกจะน้อมรับและศึกษา ChatGPt เพื่อหาวิธีประยุกต์และอยู่ร่วมกับมันอย่างไม่มีปัญหา ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีสถาบันการศึกษาของไทยด้วย

“ChatGPT จะเต็มบ้านเต็มเมือง” หลังเปิดให้แอปฯ ต่าง ๆ นำระบบไปใช้ได้

ผู้บริหารสื่อใหญ่ระดับโลกยอมรับ “เอไอมีโอกาสแทนที่นักข่าว”

ไม่รอดตามคาด! แชตบอตจากตะวันตก ChatGPT ถูก “คุมกำเนิด” ในจีน

 

ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีรายวิชาหนึ่ง ซึ่งต้องการให้นิสิตมีความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างถ่องแท้ และการจะทำเช่นนั้นได้ ก็คือต้องให้พวกเขามีประสบการณ์การใช้งานจริงด้วยตัวเอง

รศ.ดร.วรประภา นาควัชระ ผู้ช่วยอธิการบดี และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของวิชาเศรษฐกิจดิจิทัลและนวัตกรรม (Digital and Innovative Economy) เล่าว่า วิชาของเธอได้เปิดการเรียนการสอนมา 7-8 ปีแล้ว สอนให้นิสิตรู้จักกับกับ Digital Economy

Digital Economy คือระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัล และมีผลทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป หลักคิดและการคำนวณทางเศรษฐศาสตร์จึงต้องเปลี่ยนตาม เนื้อหาที่สอนได้มีการเปลี่ยนทุกปีให้ตามทันเทคโนโลยีใหม่และเชิญวิทยากรภายนอกที่หลากหลายมาอย่างต่อเนื่อง

อาจารย์เล่าว่า “ในปีนี้ ได้ให้นิสิตทำการบ้านด้วย ChatGPT โดยวัตถุประสงค์หลักคือการเข้าใจและเรียนรู้การใช้งานเทคโนโลยี ว่ามีความสามารถและข้อจำกัดอย่างไร”

โจทย์ที่เธอมอบให้นิสิตคือ “การเขียนนิยายด้วยเอไอ เช่น ChatGPT และสร้างรูปประกอบโดยใช้เอไอเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Midjourney หรือ Dall-E

“ในท้ายที่สุด นิสิตเป็นผู้ค้นพบข้อจำกัดเองว่า หากต้องการเขียนนิยายต่อเนื่องหลายหน้า ChatGPT จะไม่สามารถทำได้ดี ยังคงต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์หรือความคิดนอกกรอบของมนุษย์เข้าไปเติมเต็ม และมีการนำมาถกเถียงร่วมกันต่อในห้องเรียนถึงการใช้งานในโลกจริงที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น” อาจารย์บอก

รศ.ดร.วรประภา กล่าวอีกว่า “เราเลยจุดที่จะมานั่งกังวลว่า เอไอจะแย่งงานคน สมัยก่อนเป็นยุคของคนแข่งกับคน ถัดมาเป็นเอไอแข่งกับเอไอ จนกระทั่งปัจจุบันเราก้าวสู่ยุค ‘คนบวกเอไอ’ แข่งกับ ‘คนบวกเอไอ’ หรือเรียกว่ายกระดับเป็นยอดมนุษย์ เช่นเดียวกับยุคสมัยที่เครื่องคิดเลขถูกคิดค้นขึ้นมา ทุกคนก็ต้องหัดใช้เครื่องคิดเลขเพราะใคร ๆ ก็เริ่มใช้ แม้วันนี้เครื่องมือใหม่ ๆ อาจจะดูใช้งานยาก แต่คนที่ใช้เป็นก่อนมีโอกาสได้เปรียบเป็นผู้ชนะ”

อาจารย์ยังยกตัวอย่างที่น่าจะเข้าใจง่ายจากภาพยนตร์ดังของจักรวาลมาร์เวลอย่าง “ไอรอนแมน (Iron Man)”

“ในหนังเรื่องไอรอนแมน พระเอกจะมี ‘จาร์วิส’ ที่เป็นเอไอคอยเป็นผู้ช่วยประมวลผลตอบคำถาม และมีชุดเกราะสีแดงช่วยให้สะเทินบกสะเทินน้ำ นั่นคือตัวอย่างของการที่คนเอาเทคโนโลยีมาเพิ่มความสามารถของตนเอง ทำให้ทั้งสมองคิดคำนวณได้ไวขึ้น และร่างกายแข็งแกร่งขึ้น ก้าวข้ามข้อจำกัดของการเสื่อมตามธรรมชาติของมนุษย์” รศ.ดร.วรประภากล่าว

เธอเสริมว่า หัวใจสำคัญของเรื่องนี้ คือการเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ด้วยเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันคือเอไอ แต่อนาคตอาจเป็นอย่างอื่นได้อีก ควอนตัมเทคโนโลยีอาจมาแทนที่ก็เป็นได้ ทุกคนจึงควรเปิดใจพร้อมเรียนรู้ใหม่ตลอดเวลา

อาจารย์ยังบอกอีกว่า สำหรับความกังวลเรื่อง “ดิสรัปชัน (Disruption)” หรือการที่เทคโนโลยีใหม่เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้คนนั้น เธอไม่มีความกลัวในเรื่องนี้

“กลับเรารู้สึกว่ามันจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจเกิดประสิทธิภาพดีขึ้น นั่นหมายถึงผลผลิตที่มากขึ้นท่ามกลางประชากรโลกลดลง อีกทั้งเมื่อมีดิสรัปชั่นใหม่เข้ามา จะทำให้เกิดความต้องการใหม่ ๆ (New Demand) ยกตัวอย่างเช่น การแอบใช้ ChatGPT ในการเขียนรายงานหรือข้อสอบที่มีกติกาว่าห้ามใช้ AI ฝั่งสถาบันการศึกษาก็ต้องหาเครื่องมือมาตรวจสอบงานที่ถูกเขียนโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI Detection Tool) นักธุรกิจที่เห็นโอกาส ก็สร้างเครื่องมือเหล่านี้ออกขายสู่ท้องตลาด” รศ.ดร.วรประภากล่าว

 

ภาพจาก Getty Image

คอนเทนต์แนะนำ
แนะ "ยื่นอุทธรณ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565" ภายใน 1 พ.ค. 66
ปีนี้จังหวัดไหนอากาศร้อนสุด? กรมอุตุนิยมวิทยา เปิด 4 จังหวัดร้อนตับแตก
ฝุ่น PM 2.5 วันนี้! ไทยอ่วมเกินมาตรฐาน 55 จังหวัด ติดอันดับ 5 ของโลก
วิธีจองโรงแรม "เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5" เข้าพักคืนแรกวันไหน

Bottom-PL-24 Bottom-PL-24

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ