เป็นที่ถูกพูดถึงอีกครั้งสำหรับ "เพจเจอร์" อุปเพจเจอร์กรณ์สื่อสารไร้สายยอดนิยมในอดีต หลังเกิดเหตุเพจเจอร์ระเบิดในหลายพื้นที่ของประเทศเลบานอน เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งหากย้อนไปในช่วงเวลาดังกล่าว เพจเจอร์ คืออุปกรณ์สื่อสารที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก โดยมีผู้ใช้งานกว่า 22 ล้านเครื่องในปี 1990 และ 61 ล้านเครื่องในปี 1994 ตามลำดับ
ทว่าการเข้ามาของโทรศัพท์มือถือที่มาพร้อมฟังก์ชันการส่งข้อความ ทำให้เพจเจอร์ถูกใช้งานน้อยลง จนปัจจุบันใครหลายคนยังไม่รู้จักเจ้าอุปกรณ์สื่อสารชนิดนี้
รวมวิธีสมัครพร้อมเพย์ผูกเลขบัตรประชาชน รับ "เงินดิจิทัล"
สรุปผลยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก นัดแรก บาเยิร์น-ลิเวอร์พูล-มาดริด คว้าชัย
อัปเดต เส้นทางพายุ “ดีเปรสชัน” จ่อขึ้นฝั่งเวียดนาม เคลื่อนปกคลุม “อีสาน-เหนือ”
ที่มาของ "เพจเจอร์"
เพจเจอร์ หรือ วิทยุติดตามตัว เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารแบบพกพาสำหรับส่งข้อความสั้น เปิดตัวครั้งแรกพร้อมจดสิทธิบัตรในปี 1949 โดย อัลเฟรด เจ. กรอส ผลิตโดยบริษัท Reevesound ให้บริการโดยบริษัท Telanswerphone และถูกนำมาใช้งานครั้งแรกโดยแพทย์ในโรงพยาบาล Mount Sinai เมืองแมนฮัตตัน กรุงนิวยอร์ก ในปี 1950 พร้อมคิดค่าบริการอยู่ที่ 12 ดอลลาร์ต่อเดือน หรือราว 400 บาทในปัจจุบัน
ทว่ารุ่นดังกล่าวจะรับข้อความจากเสาส่งสัญญาณในระยะ 40 กิโลเมตร โดยที่ยังไม่มีการนำทรานซิสเตอร์ ที่ช่วยควบคุมการไหลหรือการปิดกั้นของกระแสไฟฟ้าไม่ให้ไหลผ่าน มาใส่ หรือเรียกได้ว่าเพจเจอร์ในเวลานั้นยังไม่มีระบบหรือสวิตช์เปิด-ปิด
ทำให้ในช่วงปี 1960 จอห์น ฟรานซิส มิตเชลล์ ได้ผสานระบบทรานซิสเตอร์เข้ากับเพจเจอร์ ทำให้เริ่มมีเพจเจอร์ที่สามารถเปิด-ปิดได้ และถูกพัฒนาต่อยอดเรื่อยมาจนกระทั่งนิยมใช้งานในช่วงปลายยุค 80 - ยุค 90
โดยเพจเจอร์นั้นมีผู้ให้บริการดังมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Worldpage, Hutchinson, Postell, Easycall, ไปจนถึงผู้ให้บริการที่โด่งดังสุดขีดในไทยจนชื่อแบรนด์ถูกนำมาใช้เป็นสรรพนามเรียกเจ้าเพจเจอร์อย่าง Paclink
สำหรับประเทศไทย เพจเจอร์เริ่มนำมาใช้ตั้งแต่ปี 1977 และได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในช่วงปี 1987 - 2001 มีผู้ให้บริการรายแรกคือ เทเลซิส ภายใต้ชื่อ "แพคลิงก์" (Paclink) ซึ่งได้รับสัมปทานมาจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย
ต่อมา องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ได้ให้สัมปทานแก่เอกชนรายอื่นเพิ่มเติม เริ่มจาก "โฟนลิงก์" ของกลุ่มชินคอร์ป ตามมาด้วย “ฮัทชิสัน” ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างฮัทชิสันวัมเปาและล็อกซ์เล่ย์ ที่เปิดให้บริการในเวลาไล่เลี่ยกัน หลังจากนั้นมีกลุ่มเลนโซ่และกลุ่มยูคอมทยอยเข้ามาตามลำดับ
เพจเจอร์ทำงานอย่างไร?
การทำงานของเพจเจอร์ จะมีทั้งแบบรับข้อความอย่างเดียว และแบบรับ-ส่งข้อความในตัว โดยข้อความที่ส่งจะเป็นข้อความสั้น ๆ โดยมีจำนวนข้อความที่จำกัด รุ่นที่สามารถส่งข้อความได้สูงสุดจะส่งได้ไม่เกิน 160 ตัวอักษร หรือ 70 ตัวอักษร หากมีอักษรพิเศษเข้ามา การส่งข้อความอาจเป็นหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับ ไปจนถึงทั้งตัวอักษร และตัวเลขต่าง ๆ
ซึ่งหากเราต้องการส่งข้อความ จะไม่สามารถที่จะส่งได้ในทันที แต่ต้องโทรศัพท์ไปยังผู้ให้บริการ หรือโอเปอร์เรเตอร์เพื่อบอกให้เจ้าหน้าที่พิมพ์ข้อความที่ต้องการและส่งต่อให้ผู้ที่ต้องการ โดยแจ้งหมายเลขประจำเครื่องของผู้รับ และข้อความที่ต้องการจะส่ง
ส่วนการใช้ประโยชน์จากเพจเจอร์ส่วนมากจะถูกใช้ในการสนับสนุนการส่งข้อความในยามวิกฤต เนื่องจากการส่งข้อความมีความน่าเชื่อถือ สามารถกระจายสัญญาณส่งข้อความไปยังหลายอุปกรณ์พร้อมกันจากหน่วยงานรัฐได้ ไม่เหมือนกับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในขณะนั้น ที่ในยามฉุกเฉินอาจประสบปัญหาการใช้เครือข่ายเกินพิกัด จนใช้การไม่ได้ เช่น ในเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน พ.ศ. 2544 หรือเหตุการณ์พายุเฮอร์ริเคนแคทรีนา
ด้วยเหตุผลนี้ทำให้เพจเจอร์ยังคงได้รับความนิยมในหมู่เจ้าหน้าที่บริการฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ดูแลระบบบริการสารสนเทศหรืออยู่ในระบบคอมพิวเตอร์มือถือ
สถานะของ "เพจเจอร์" ในปัจจุบัน
ในปัจจุบัน การมาถึงของโทรศัพท์มือถือที่มีบริการส่งข้อความหรือ SMS ได้ รวมถึงการมาถึงของสมาร์ตโฟน ทำให้เพจเจอร์เริ่มเสื่อมความนิยมลง เริ่มจากสหรัฐฯ ที่ลดฮวบลงในปี 2002 เป็นต้นมา โดยผู้ให้บริการเพจเจอร์สัญชาติสหรัฐฯ สามารถโกยรายได้ในแคนาดาในปี 2008 ได้เพียง 2.1 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 7 หมื่นล้านบาทเท่านั้น จากในปี 2003 ที่โกยรายได้ในแคนาดาไป 6.2 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 2.06 แสนล้านบาท
ขณะที่สหราชอาณาจักร มีการใช้เพจเจอร์อยู่ประมาณ 1.3 แสนเครื่องในปี 2017 ก่อนที่ในปี 2019 จะประกาศยกเลิกใช้งานอย่างเป็นทางการ ส่วนญี่ปุ่นแม้จะเรียกได้ว่าเป็นดินแดนที่รุ่งโรจน์ในการใช้งานเพจเจอร์ โดยมีจำนวนการใช้งานมากกว่า 10 ล้านเครื่องในปี 1996 จนกระทั่งวันที่ 1 ตุลาคม ปี 2019 ผู้ให้บริการเครือข่ายเพจเจอร์รายสุดท้ายในประเทศประกาศปิดตัวลง สิ้นสุดการใช้งานเพจเจอร์ในญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นการสื่อสารผ่านคลื่นวิทยุแทนสัญญาณโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ต ทำให้สามารถตรวจสอบการติดตามได้ยากขึ้น จึงยังเป็นที่นิยมสำหรับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เช่น กลุ่มฮิซบอลเลาะห์