จากกรณีแผ่นดินไหวรุนแรงสะเทือนมายังประเทศไทยเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 28 มีนาคม 2568 ส่งผลให้หลายพื้นที่ในประเทศไทยรวมถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑลรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนนั้น ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับการจัดตั้งและพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast Service: CBS) ว่าเหตุใดจึงยังไม่มีการนำมาใช้งาน หลังจากที่ทดสอบระบบที่จังหวัดภูเก็ตไปเมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ปี 2567
PPTV สอบถาม นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการรักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) ถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า การทดสอบในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานั้นเป็นการทดสอบว่าตัวเครื่องสามารถใช้การได้หรือไม่ เพราะแต่ละพื้นที่มีภูมิศาสตร์แตกต่างกัน โดยผู้ให้บริการต่าง ๆ ก็ได้ติดตั้งเกือบ 100% ทั่วประเทศแล้ว
นายไตรรัตน์ กล่าวต่อว่า หากเป็นภัยพิบัติเช่นพายุ ฝนฟ้าอากาศ เราสามารถรู้ล่วงหน้าได้ แต่ถ้าเป็นแผ่นดินไหวจะไม่สามารถรู้ก่อนรู้ล่วงหน้าได้ แต่กรณีนี้ถือว่ามีความรวดเร็ว โดยหาก CBS ถูกนำมาใช้การจริงจะมีการแจ้งเตือนภัยพิบัติที่เร็วขึ้นแน่นอน เนื่องจากเมื่อเกิดเหตุขึ้นระบบจะส่งไปที่ Cell Site ที่มีเบอร์ของผู้ใช้งานผ่านการป้อนเข้าสู่ระบบของผู้ให้บริการเครือข่าย เพื่อกระจายไปยังมือถือของผู้ใช้งานต่อไป ทำให้ทุกคนจะได้รับการแจ้งเตือนทั้งหมด
นายไตรรัตน์ กล่าวว่า ได้ย้ำให้ทางผู้ให้บริการดำเนินการให้พร้อมส่งข้อมูล อย่างไรก็ตามหากยังไม่สามารถส่งด้วย Cell Broadcast ได้ก็จะมีการส่ง SMS ไป โดยเมื่อกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ส่งการแจ้งเตือนเหตุมา สมมติเหตุเกิดบริเวณจตุจักร ต้องการแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้บริเวณจตุจักร ก็จะส่งตรงไปยังประชาชนได้ทันทีในบริเวณดังกล่าว แต่หากเป็น SMS นั้นจะต้องส่งทีละเบอร์ จะมีความล่าช้ากว่า
นายไตรรัตน์ เผยว่า ขณะนี้การดำเนินการระบบดำเนินการเกือบ 100% แล้ว โดยจะทดลองครั้งใหญ่ช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ ช่วงเดือนพฤษภาคม - มิถุนายนนี้ ซึ่งช่วงทดลองใช้งานครั้งใหญ่ก็คาดว่าจะได้เปิดใช้งานจริงแล้ว