ส้มหล่น....


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ก้องส่องกีฬาไทย โดย... วรชาติ อดุลยานนท์

โอลิมปิกเกมส์ 2016 "ริโอเกมส์" ปิดฉากไปเป็นที่เรียบร้อย โดยทัพนักกีฬาไทยทำผลงานคว้ามาได้ 2 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง จบอันดับที่ 35 ของตารางเหรียญ ซึ่งเป็นผลงานของ 2 สมาคมกีฬาคือ สมาคมกีฬายกน้ำหนักแห่งประเทศไทย และสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย 

เชื่อว่าแฟนกีฬาคงทราบกันดีว่าทั้ง 6 เหรียญเป็นผลงานของใครกันบ้าง

แต่ข่าวที่ถือว่าเป็นข่าวที่น่ายินดี และเป็นควันหลงต่อจาก "ริโอเกมส์" คือการที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ ไอโอซี ประกาศยืนยันว่า "น้องปุ๊กลุ๊ก" ศิริภุช กุลน้อย หรือชื่อเดิม รัตติกาล กุลน้อย นักกีฬายกน้ำหนักหญิงทีมชาติไทย ในโอลิมปิกเกมส์ 2012 ที่ประเทศอังกฤษ รุ่น 58 ก.ก.หญิง จะได้รับเหรียญทองแดง "ลอนดอนเกมส์" แทน คาลินา ยูลิยา จากยูเครน ที่ถูกตรวจพบการใช้สารต้องห้ามจากการประกาศของสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติก่อนหน้านี้

จริงๆแล้วข่าวนี้มีมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตั้งแต่โอลิมปิกเกมส์ ที่บราซิลยังไม่เริ่มเสียอีก เพียงแต่รอการยืนยันอย่างเป็นทางการเท่านั้น ซึ่งหลังจากมีการยืนยันเช่นนี้แล้ว ทำให้ "ปุ๊กลุ๊ก" จะได้รับเงินจากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติจำนวน 4 ล้านบาททันที โดยแบ่งเป็นเงิน 2 ล้านบาท และอาจจะเป็นรูปแบบเงินเดือนอีก 2 ล้านบาท เพื่อไม่ให้กองทุนต้องเกิดปัญหาภาระงบผูกพัน เพราะ "ลอนดอนเกมส์" ผ่านมาแล้ว 4 ปี

นอกจากนี้เรายังมีลุ้นได้เหรียญโอลิมปิกอีก 1 เหรียญ จากเคสใกล้เคียงกัน แต่เป็นของ เพ็ญศิริ เหล่าศิริกุล นักยกน้ำหนักไทยในรุ่น 48 ก.ก.หญิง ที่สหพันธ์ยกน้ำหนักยกน้ำหนักนานาชาติ หรือ IWF เปิดเผยรายงานฉบับล่าสุดที่พบการใช้สารกระตุ้นในนักกีฬาที่ลงแข่งโอลิมปิก 2008 หรือ "ปักกิ่งเกมส์" ถึง 15 คน และมีชื่อของ เฉิน เซี่ยเซี่ย เจ้าของเหรียญทองรุ่น 48 กิโลกรัมหญิงรวมอยู่ด้วย ทำให้ เพ็ญศิริ เหล่าศิริกุล นักยกน้ำหนักไทยมีลุ้นได้เหรียญเหรียญทองแดง

2 ข่าวนี้แสดงให้เห็นว่า การตรวจโด๊ปของ องค์กรตรวจสอบสารกระตุ้นโลก หรือ วาด้า มีขั้นตอนพอสมควร กว่าจะได้ผลการยืนยันที่ชัดเจน ต้องใช้เวลานาน ดังนั้นข่าวที่ออกมาให้เห็นบ่อยๆ ไทยจะได้สิทธิ์ไปแทนกีฬาชนิดนั้นชนิดนี้ จึงเชื่อถือไม่ได้

ถามว่าทำไมช่วงนี้ถึงได้มีข่าวเกี่ยวกับการใช้สารกระตุ้นออกมาถี่เหลือเกิน 

จริงๆแล้วการตรวจโด๊ปเป็นขั้นตอนมาตรฐานของการแข่งขัน ซึ่งฝ่ายจัดการแข่งขัน มีสิทธิ์ที่จะสุ่มตรวจนักกีฬาทุกคน แต่ว่าที่มีข่าวถี่ก็เพราะนักกีฬาของรัสเซียถูกแบนจากการแข่งขันโอลิมปิกบางชนิดกีฬา รวมนักกีฬาพาราลิมปิกของรัสเซียก็ถูกแบนทั้งหมด ทำให้มีข่าวออกมาเป็นจำนวนมาก ส่วนกรณีของ "ปุ๊กลุ๊ก" มีการพิจารณามานานแล้ว แต่ผลเพิ่งจะมายืนยันในช่วงนี้พอดี

สำหรับการใช้สารกระตุ้นของนักกีฬายกน้ำหนักนั้น จะนำมาเปรียบเทียบกับกรณีของ "น้องเมย์" รัชนก อินทนนท์ นักแบดมินตันสาวไทย ไม่ได้ เพราะการที่จะดูว่านักกีฬาคนนั้น "โด๊ป" หรือไม่ ต้องดูที่เจตนา

กรณีของน้องเมย์ถูกตรวจพบจากการแข่งขันแบดมินตันประเภททีมหญิงชิงแชมป์โลก อูเบอร์คัพ 2016 เดือน พ.ค. ที่ประเทศจีน และมีการรายงานมาที่โอลิมปิกไทย ก่อนจะทำหนังสือชี้แจงไปว่าสารที่ใช้อยู่ในการรักษาหัวเข่า ซึ่งถือว่าไม่ได้เจตนาใช้สารกระตุ้น

ส่วนนักยกน้ำหนักที่เป็นข่าว เป็นการตรวจพบสารกระตุ้นจากการใช้เพื่อให้ร่างกายสามารถยกน้ำหนักได้มากขึ้น เป็นการเจตนาใช้ให้มีผลต่อการผลการแข่งขัน ดังนั้น 2 กรณีนี้จึงแตกต่างกัน

หากย้อนกลับมาดูว่าในปัจจุบันทำไมถึงมีการตรวจพบสารกระตุ้นหลายชนิดกีฬา สาเหตุหลักมาจาก "วาด้า" องค์กรที่ดูแลเรื่องสารกระตุ้น ได้บรรจุชนิดของสารต้องห้ามเพิ่มขึ้น เรียกได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงในทุกๆเดือน ดังนั้นเจ้าหน้าที่ต้องขยันเข้ามาตรวจดูชื่อว่ามีสารชนิดไหนบ้างที่ถูกขึ้นบัญชีเป็นสารต้องห้าม 

แต่หากนักกีฬาจำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา เจ้าหน้าที่ทีมก็ต้องคอยรายงานก่อนการตรวจว่าใช้ยาชนิดไหนอยู่ และใช้เพื่ออะไร หากละเลยไม่แจ้งต่อฝ่ายจัดการแข่งขันก็อาจจะเข้าข่ายเจตนาใช้สารกระตุ้น

ร่ายยาวมาถึงตรงนี้เพียงต้องการชี้ให้เห็นถึงขั้นตอนการตรวจโด๊ปว่ามีขั้นตอนอย่างไร และแต่ละเคสแตกต่างกันอย่างไร 

ส่วนกรณี "น้องปุ๊กลุ๊ก" นั้นถือว่าเป็นข่าวดี แต่ถ้าเลือกได้เจ้าตัวคงอยากได้เหรียญทองแดงในช่วงแข่งขันเลย แม้ว่าตอนนี้จะถูกบันทึกชื่อว่าได้เหรียญทองแดง "ลอนดอนเกมส์" แต่ความรู้สึกคงต่างกัน

คิดดูถ้าได้รับเหรียญตอนนั้น "ปุ๊กลุ๊ก" จะได้ยืนบนโพเดียม ได้เห็นธงชาติไทยเชิญสู่ยอดเสา ความรู้สึกแตกต่างจากตอนนี้แน่นอน 

แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะสิ่งที่จะได้รับในตอนนี้หรือตอนไหน คือ "ความภูมิใจ" และ "เงินอัดฉีด"

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP บทความกีฬา
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ