แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยของการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ เปิดเผยกับสื่อต่างประเทศ CNN ว่า ครอบครัวของนักฟุตบอลทีมชาติอิหร่านถูกข่มขู่คุกคาม
โดยหากนักเตะ “ไม่ประพฤติตัวให้ดี” ก่อนการแข่งขันนัดสำคัญของกลุ่ม B ที่ต้องเจอกับสหรัฐฯ ในวันนี้ (29 พ.ย.) เช่น ไม่ร้องเพลงชาติหรือเข้าร่วมการประท้วงทางการเมืองเพื่อต่อต้านระบอบการปกครองของอิหร่าน ครอบครัวของพวกเขาจะต้องเจอกับ “ความรุนแรง” และ “การทรมาน”
"อิหร่าน" รวบหลานสาวผู้นำสูงสุด หลังเรียกร้องนานาชาติ ตัดสัมพันธ์รัฐบาล
เชือดไก่ให้ลิงดู! อิหร่านจับอดีตนักเตะทีมชาติ ฐานต่อต้านรัฐบาล
นักเตะอิหร่านไม่ร้องเพลงชาติ ประท้วงเงียบต้านรัฐบาล
เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากนักเตะทีมชาติอิหร่านปฏิเสธที่จะร้องเพลงชาติในนัดที่เจอกับอังกฤษเมื่อวันที่ 21 พ.ย. เพื่อประท้วงต่อต้านการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลอิหร่านในการปราบปรามการประท้วงซึ่งเกิดจากการที่ตำรวจศีลธรรมใช้กำลังทุบตี มาห์ซา อามินี หญิงอิหร่าน-เคิร์ดอายุ 22 ปีที่คลุมฮิญาบไม่เรียบร้อยจนเธอเสียชีวิต
แหล่งข่าวรายนี้กล่าวว่า หลังเกิดเหตุนักเตะไม่ร้องเพลงชาติ พวกเขาก็ถูกเรียกไปพบกับสมาชิกกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (IRGC) ทันที ซึ่งทำให้ในเกมนัดที่สองที่เจอกับเวลส์เมื่อวันศุกร์ (25 พ.ย.) เราได้เห็นนักเตะอิหร่านร้องเพลงชาติ
แหล่งข่าวรายนี้ ซึ่งติดตามหน่วยงานความมั่นคงของอิหร่านที่ปฏิบัติงานในกาตาร์อย่างใกล้ชิดในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก กล่าวว่า มีเจ้าหน้าที่หลายสิบคนจาก IRGC ถูกเกณฑ์มาเพื่อ “ตรวจสอบผู้เล่นชาวอิหร่าน” ไม่ให้ไปคลุกคลีหรือพบปะกับชาวต่างชาติ
“มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของอิหร่านจำนวนมากในกาตาร์ที่รวบรวมข้อมูลและติดตามผู้เล่น” แหล่งข่าวกล่าว
ขณะเดียวกัน คาร์ลอส เกยรอซ โค้ชชาวโปรตุเกสของทีมชาติอิหร่าน ได้พบกับเจ้าหน้าที่ IRGC เป็นการส่วนตัวหลังจากที่พวกเขาคุกคามผู้เล่นชาวอิหร่านและครอบครัวของพวกเขาไปแล้ว แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวไม่ได้บอกว่าเนื้อหาของการสนทนาดังกล่ามีอะไรบ้าง แต่หลังการพูดคุย เกยรอซก็มาบอกกับนักเตะอิหร่านว่า สามารถประท้วงในฟุตบอลโลกได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับของฟีฟ่าเท่านั้น
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ก่อนเกมการแข่งขันกับอังกฤษ อิหร่านยังเคยให้คำมั่นสัญญากับนักเตะว่าจะมอบ “ของขวัญและรถยนต์” แต่หลังจากนักเตะปฏิเสธร้องเพลงชาติกลายเป็นว่า รัฐบาลอิหร่านได้เปลี่ยนจากการมอบของขวัญเป็นการคุกคามนักเตะ และครอบครัวของพวกเขาแทน
อิหร่านขณะนี้ ยังคงเต็มไปด้วยการประท้วง และการปราบปรามด้วยความรุนแรง โดย โวลเกอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ระบุว่า การปราบปรามผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล ทำให้อิหร่านกำลังตกอยู่ภายใต้วิกฤตด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มรูปแบบ
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การประท้วงที่ลุกลามไปทั่วประเทศเป็นเวลานานหลายเดือนนี้ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่ง นับตั้งแต่เกิดปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 และสิ่งนี้ทำให้ระบอบการปกครองของอิหร่านที่มีมานานกว่า 40 ปีกำลังถูกสั่นคลอน
เรียบเรียงจาก CNN
ภาพจาก AFP