ตรุษจีนปีนี้ใครไม่รู้จะไปที่ไหน แนะนำ 8 ศาลเจ้า-วัดจีน ที่ทุกคนสามารถไปขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใน กทม.และปริมณฑล เสริมมงคลให้ชีวิตดีตลอดปี 2566
เข้าสู่ “เทศกาลตรุษจีน” หรือ “วันขึ้นปีใหม่” ซึ่งเป็นวันสำคัญสำหรับผู้มีเชื้อสายชาวจีนที่จะออกมาเฉลิมฉลอง กลับไปพบปะกับครอบครัว หรือไปไหว้เทพเจ้าขอพรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เสริมสิริมงคลต้อนรับวันแรกของปีตามปฏิทินจีน
“ตรุษจีน” ประกอบไปด้วย 3 วันสำคัญ คือ วันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว ในปีนี้จะตรงกับวันที่ 20, 21 และ 22 มกราคม 2566 ส่วนมากแล้วในวันเที่ยว จะเป็นวันที่ผู้คนพากันออกไปเที่ยว หรือไปไหว้เทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอพร เสริมสิริมงคลให้โชคดีตลอดปีด้วย
สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าวันตรุษจีนปีนี้จะไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไหนดี หรือใครเกิดในปีระกา, ปีเถาะ, ปีมะเมีย และ ปีชวด แล้วอยากไปแก้ชง เสริมดวงชะตากันสักหน่อย
เราได้รวบรวมศาลเจ้าและวัดจีนทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล 8 สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เท่ากับตัวเลขนำโชคของชาวจีน ซึ่งหมายถึงความร่ำรวย ความสำเร็จ มาฝากทุกคนกัน
1.) วัดมังกรมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่)
วัดมังกรมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย เป็นที่คุ้นเคยในหมู่ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวจีนจากต่างประเทศ ก่อตั้งมานานนับร้อยปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2414
ภายในมีเทพเจ้าต่างๆ หลายองค์ ทั้งเทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา (ไท้ส่วยเอี้ยะ) เทพเจ้าแห่งยา (หั่วท้อเซียงกง) รวมถึง เทพเจ้าแห่งโชคลาภ (ไฉ่ซิงเอี้ย) ที่ผู้คนมักจะไหว้เป็นองค์แรกๆ ในช่วงตรุษจีน เพื่อขอโชคลาภ ความรักความสามัคคีในครอบครัวตลอดปีใหม่ ทำให้จุดเด่นของวัดนี้ คือ การแก้ชง และการเสริมดวงชะตา
ตามความเชื่อของชาวจีนแล้ว วัดเล่งเน่ยยี่ เยาวราช หรือ วัดมังกรฯ แห่งนี้ เป็น 1 ใน 3 วัดมังกร ซึ่งถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่ประกอบไปด้วยส่วนหัว ตัว และหาง โดยส่วนหัวของมังกรอยู่ที่วัดแห่งนี้ จึงถือเป็นวัดสำคัญที่ผู้มีเชื้อสายชาวจีนเข้ามากราบสักการบูชากันบ่อยๆ
เปิดให้บริการ : ทุกวัน เวลา 07.00-18.00 น.
ที่ตั้ง : 423 ถนนเจริญกรุง เขตป้อมปราบ กรุงเทพฯ
2.) วัดทิพยวารีวิหาร (วัดกัมโล่วยี่)
เป็นอีกวัดที่มีอายุมากกว่า 100 ปี สร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี ตั้งแต่ พ.ศ. 2319 ภายในประดิษฐานองค์เทพที่สำคัญมากมาย ทั้งเทพบุ่งเชียง (ดาวนักปราชญ์), เทพไท้เอี๊ยง (สุริยะเทพ), เทพไท้อิม (จันทราเทพ), เทพฮั่วท้อ (หมอเทวดา), เทพฮั้วกวงไต่ตี่ (เทพสามตา), เทพไท้เอี๊ยง และ เทพมังกรเขียว (เทพารักษ์ผู้รักษาบ่อน้ำทิพย์ประจำวัด)
ด้วยวัดแห่งนี้มี “บ่อน้ำทิพย์” เป็นตาน้ำที่ไม่เคยแห้งเหือด อยู่คู่กันมาตั้งแต่ก่อสร้างวัด จึงเป็นจุดเด่นสำคัญที่ทำให้วิหารแห่งนี้ถูกเรียกว่า “วัดกัมโล่วยี่” เพราะ กัมโล่ว แปลว่า น้ำทิพย์ และ ยี่ แปลว่า วัด รวมกันก็เป็นวัดน้ำทิพย์ ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ทำให้ผู้คนนิยมเข้ามากราบไหว้สักการะขอพรที่วัดแห่งนี้กัน
เปิดให้บริการ : ทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น.
ที่ตั้ง : 119 ซอยทิพยวารี ถนนตรีเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ
3.) วัดโพธิ์แทนคุณาราม (วัดโพวมิ้งปออึงยี่)
วัดที่ไม่ได้มีอายุเก่าแก่นานกว่า 100 ปี เหมือนวิหารอื่นๆ แต่มีความน่าสนใจในสถาปัตยกรรมที่สวยงามโดดเด่น เพราะผสมผสานวัฒนธรรมไทย จีน และทิเบต เข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว เป็นเอกลักษณ์สุดๆ ที่สำคัญยังสร้างตามหลักฮวงจุ้ยอีก ซึ่งชาวจีนมีความเชื่อกันว่าการได้ไปอยู่ในสถานที่ถูกหลักฮวงจุ้ย จะยิ่งช่วยเสริมโชคลาภและบารมี
ภายในวัดมีสิ่งสำคัญหลายอย่าง เช่น ยอดฉัตรของพระอุโบสถเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ, จิตรกรรมกระเบื้องโมเสกรูปพระอรหันต์ 500 องค์ และพระพุทธรูป 1,000 องค์ รวมถึงยังมี “เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา (ไท้ส่วยเอี้ยะ)” ด้วย ใครที่อยากไปแก้ชง หรือเสริมดวงชะตา พร้อมกับไปชมความงดงามของวิหารที่ไม่เหมือนใคร ที่แห่งนี้ถือว่าไม่ควรพลาด
เปิดให้บริการ : ทุกวัน เวลา 08.30-15.30 น.
ที่ตั้ง : 323 ซอยสาธุประดิษฐ์ 19 (นราธิวาสฯ 24) ถนนสาธุประดิษฐ์ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ
4.) ศาลเจ้าพ่อเสือ
ศาลเจ้าที่มีเทพเจ้าประจำศาล คือ “เสียนเทียนซั่งตี้” หรือ “เจ้าพ่อเสือ” ซึ่งเป็นที่เลื่องชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก โดยมีตำนานเล่าขานกันว่า ได้มีการเอากระดูกเสือและอัญเชิญดวงวิญญาณเสือ ขอให้ปกปักรักษาประชาชนให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับหลวงพ่อพระร่วง วัดมหรรณพ์ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องชาวไทยและชาวจีนในละแวกนี้ที่มีมาช้านานในแต่ละวัน
นอกจากนี้ภายในศาล ยังประดิษฐานเทพอีกหลายองค์ โดยเฉพาะเจ้าพ่อกวนอู และเจ้าแม่ทับทิม ผู้คนจึงมักเข้าไปขอพรเรื่องงาน ขอลูก หรือไปแก้ชงกัน
เปิดให้บริการ : ทุกวัน เวลา 06.00-17.00 น.
ที่ตั้ง : 468 ถนนตะนาว เขตพระนคร กรุงเทพฯ
5.) ศาลเจ้ากว๋องสิว หรือศาลเจ้ากวางตุ้ง
สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยสมาคมกว๋องสิว สมาคมชาวจีนกวางตุ้ง ได้รวมเงินกันซื้อที่ดินบนถนนเจริญกรุงในปี พ.ศ. 2420 ตั้งตั้นมาจากการสร้างเป็นศูนย์กลางการติดต่อสื่อสารของชาวจีนในย่านนี้ ก่อนจะมาสร้างศาลเจ้าตามความเชื่อนิกายมหายาน
ภายในประดิษฐาน ซำป้อหุกโจ้ว และองค์พระแม่กวนอิมปางประธานพร ก่อนพระประธานพระอวโลกิเตศวร พระพุทธเจ้า 3พระองค์ตามความเชื่อจีนโบราณ เทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ย เทพเจ้าเสือ จี้กง กวนอู โลวป๊าน เหล่าจื้อ ให้ผู้ศรัทธาเข้ามาไหว้ขอพร เสริมสิริมงคล ไม่เพียงเท่านั้น ศาลกว๋องสิวแห่งนี้ยังได้รับขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานอีกด้วย
และด้วยไฮไลต์ตัวอักษรตรงประตูทางเข้า มีคำว่า “ฟู่” แปลว่า โชควาสนา ล้อมด้วยค้างคาว 4 ตัวบนบานประตู ผู้คนที่ได้เข้ามาจึงเปรียบเสมือนได้รับคำอวยพร ถือเป็นสิ่งที่จะช่วยเสริมสิริมงคลให้กับชีวิตให้มีความสุขความสำเร็จตลอดปี
เปิดให้บริการ : ทุกวัน เวลา 07.00-20.00 น.
ที่ตั้ง : ถนนเจริญกรุง แยกแปลงนามกับถนนพลับพลาไชย กรุงเทพฯ
6.) ศาลเจ้าอาเนี้ย
ศาลเจ้าในตรอกย่านสำเพ็ง ถนนทรงวาด ศูนย์รวมจิตใจที่มีความสำคัญในแง่มุมประวัติศาสตร์ชุมชนครั้งท่าน้ำราชวงศ์ เพราะเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าที่สำคัญของกรุงเทพฯ ชาวจีนในแถบนี้ จึงร่วมกันสร้างศาลเจ้าแห่งนี้ขึ้น
แต่ด้วยที่นี่มีผู้คนอยู่หนาแน่นและมีบ้านเรือนที่สร้างด้วยไม้อยู่ติดกันจำนวนมาก ทำให้เกิดเพลิงไหม้อยู่บ่อยครั้ง ชาวบ้านที่นี่จึงนิยมแก้เคล็ดด้วยการนำผ้าแดงมาพันกระถางธูปไว้ เป็นที่มาที่ทำให้กระถางธูปที่นี่เปลี่ยนด้านหน้าเป็นด้านหลัง ให้ด้านหน้ากระถางธูปหันหน้าไปทางชุมชน เพื่อให้พระโพธิสัตว์กวนอิม ที่ประดิษฐานอยู่ภายในศาล ปกป้องชุมชนจากเหตุเพลิงไหม้หรือภัยพิบัติต่างๆ นั่นเอง
สำหรับพระโพธิสัตว์กวนอิมที่ประดิษฐานอยู่ที่นี่นั้น เป็นปางประทานพรบนแท่นดอกบัว หรือ “อาเนี้ย” ซึ่งเป็นภาษาจีนแต้จิ๋วที่นิยมใช้เรียกเจ้าแม่กวนอิม ช่วยปัดเป่าภัยพิบัติ ปกป้องคุ้มครองชุมชน ปัจจุบันยังมีผู้เดินทางมากราบไหว้มากมาย อย่างไม่เสื่อมคลายมานานนับ 100 ปี
เปิดบริการ : ทุกวัน เวลา 06.00-16.30 น.
ที่ตั้ง : ตรอกอาเนี้ยใกล้ท่าน้ำราชวงศ์
7.) ศาลเจ้ากวนอู (คลองสาน)
เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในซอยสมเด็จเจ้าพระยา 3 ในสมัยก่อนบริเวณนี้เป็นแหล่งเทียบท่าของเรือสำเภาจีนในสมัยนั้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นของศาลเจ้าพ่อกวนอู
ภายในศาลมีการประดิษฐานองค์ เทพเจ้ากวนอู ด้วยกันทั้งหมด 3 องค์ ที่มีขนาดแตกต่างกันไปคือ องค์เล็ก องค์กลาง และองค์ใหญ่ นอกจากนี้ยังประดิษฐานรูปจำลองเง็กเซียนฮ่องเต้ เทพเจ้าแห่งโชคลาภ (ไฉ่ซิงเอี้ย) พระอรหันต์จี้กง พระศรีอริยเมตไตยโพธิสัตว์ ชั้นบนสุดประดิษฐานพระพุทธเจ้าแบบมหายานสามพระองค์ ได้แก่ พระอมิตาภพุทธเจ้า พระศากยมุนีพุทธเจ้า พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาพุทธเจ้า และเทพเจ้าองค์อื่นๆ ให้กราบไหว้บูชาอีกมากมาย
เปิดบริการ : ทุกวัน เวลา 07.00-18.00 น.
ที่ตั้ง : แขวงสมเด็จเจ้าพระยา อำเภอคลองสาน จังหวัดกรุงเทพฯ
8.) วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดเล่งเน่ยยี่ 2)
วัดเล่งเน่ยยี่อีกแห่งหนึ่ง ที่มาตั้งอยู่ที่ย่านชานเมือง เพื่อรองรับประชาชนที่หลั่งไหลมาไหว้พระขอพรแก้ชงที่วัดเล่งเน่ยยี่เป็นประจำทุกปี
ภายในวัดประดิษฐานเทพเจ้ามากมาย มีคล้ายกันวัดเล่งเน่ยยี่ ย่านเจริญกรุง ได้แก่ องค์ไท้ส่วยเอี้ยะ และ หั่วท้อเซียงกง นอกจากนี้ยังมีพระพุทธเจ้า 3 องค์ คือ องค์อดีต ปัจจุบัน และอนาคต และพระโพธิสัตว์กวนอิมที่แกะสลักจากไม้หอมต้นเดียว ซึ่งงดงามตระการตามาก ที่นี่จึงเป็นศูนย์รวมใจของคนไทยเชื้อสายจีนที่มาไหว้พระขอพรกัน
เปิดให้บริการ : ทุกวัน เวลา 09.00-18.00 น.
ที่ตั้ง : 959 หมู่ 4 ถนนเทศบาล 9 ตำบลโสนลอย อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี
อย่างไรก็ตามไม่ว่าเราจะเลือกไปสักการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์กี่ที่ก็ตาม ก็ล้วนได้รับความเป็นสิริมงคลติดตัวไป เพียงแค่ว่าทุกคนยึดมั่นในการประกอบอาชีพสุจริต และมีความเพียรพยายาม ไม่ว่าจะเจอปัญหาอุปสรรคใด เราเชื่อว่าทุกคนจะผ่านพ้นเคราะห์ร้ายๆ ไปและประสบความสำเร็จในชีวิตได้