“กันยายน” เที่ยวที่ไหนดี เพราะสัญญาณของปลายฤดูฝนมาถึงแล้ว แนะลงทะเลใต้ฝั่งอ่าวไทย แอ่ว “ลำพูน” ร่วมงานบุญของผู้หญิงหนึ่งเดียวในโลก
เดือนกันยายน ถือเป็นช่วงปลายของฤดูฝน ทำให้บรรยากาศท่องเที่ยวเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง ใครที่คิดจะไปทะเลใต้ในช่วงนี้ แนะนำให้ไปทางฝั่งทะเลอ่าวไทย อาทิ เกาะสมุยและเกาะพงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือเกาะนุ้ยนอก จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื่องจากมรสุมฝั่งอันดามันยังไม่สงบ หรือหากจะไปขึ้นเหนือเพื่อสัมผัสสายหมอกยามเช้าก็สวยไม่แพ้กัน
เพราะทางภาคเหนือในเดือนกันยายนนี้ นอกจากเมฆหมอกกลางขุนเขาแล้ว
เช็กวันมงคลเดือน ธันวาคม 2566 วันดี-วันกาลกิณี พร้อมฤกษ์ดีตลอดปี
วันหยุด "กันยายน 2566" เช็กวันหยุดราชการ-ธนาคาร พร้อมวันสำคัญของเดือน
“กันยายน 2566” ไม่มีวันหยุด เปิด 10 วิธีคลายเครียดจากการทำงาน
ยังมีประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนานในจังหวัดลำพูน นั่นคือ “ประเพณีสลากย้อม” ถือเป็นประเพณีไทยเพียงหนึ่งเดียว ที่เรียกว่า “เป็นงานบุญของผู้หญิง” เพราะจะให้หญิงสาวที่ยังไม่แต่งงานถวายสลากอ้อม ซึ่งเชื่อกันว่าจะได้รับอานิสงส์ผลบุญเทียบเท่ากับการบวชของผู้ชายเลยทีเดียว
ใกล้เทศกาลนี้กันเข้ามาแล้ว ทีมข่าว นิวมีเดีย พีพีทีวี จะชวนมารู้จักวัฒนธรรมไทยอันทรงคุณค่านี้กัน!
รู้จัก “สลากย้อมเมืองลำพูน”
สลากย้อม เป็นประเพณีที่ถือว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเกิดขึ้นที่เดียวในโลก โดยมีรากฐานมาจาก "ชาวยอง" หรือกลุ่มชาติพันธุ์ลื้อจากสิบสองปันนา ก่อนจะอพยพมาอยู่ที่เมืองยองในพม่าและย้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดลำพูนอีกทีหนึ่ง เมื่อประมาณ 200 กว่าปีที่แล้ว
ประเพณีนี้ เกิดขึ้นที่จังหวัดลำพูน รูปแบบคล้ายกับสลากภัตของภาคกลาง คือ เป็นการทำบุญโดยไม่ได้ระบุผู้รับ แต่สิ่งที่แตกต่างคือคติความเชื่อของชุมชนยองต่อประเพณีสลากย้อม
ในอดีตคนยองมีคติความเชื่อในการตานสลากย้อมหรือการให้ทานว่า เป็นหน้าที่ของหญิงสาว โดยเฉพาะผู้หญิงสาวที่มีอายุครบ 20 ปีที่ยังไม่ได้แต่งงาน ควรจะตานสลากย้อม โดยเชื่อว่าการตานสลากเป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่ และเป็นพิธีเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ที่หมายถึงพร้อมที่จะออกเรือน
กุศโลบายสอนให้เก็บออม ฝึกฝนความแม่บ้านแม่เรือน
สลากย้อมเป็นกุศโลบายอันชาญฉลาดของคนยอง ที่ใช้ฝึกหัดลูกสาวให้รู้จักเก็บหอมรอมริบ รู้จักมัธยัสถ์ เพื่อจัดทำต้นสลาก เนื่องจากการทำต้นสลากย้อม ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายและต้องใช้เงินทองจำนวนมาก กว่าจะทำสลากได้อาจต้องใช้เวลาถึง 4-5 ปี ในการเก็บออม รวมถึงยังช่วยฝึกฝนความรู้และหน้าที่ต่างๆ ที่แม่บ้านพึงจะมี ทั้งการออม งานหัตถกรรม การเย็บปักถักร้อย และงานอื่นๆ
เมื่อหญิงสาวมีเงินพอที่จะทานสลากย้อมแล้ว ก็จะเริ่มตระเตรียมข้าวของตกแต่งต้นสลากทีละเล็กละน้อย ทั้งข้าวของเครื่องใช้ แก้ว จาน ช้อน ขัน ส้มสุกลูกไม้ มะพร้าว ฟักแฟง ข้าวเปลือก ขนม เครื่องนุ่งห่ม งานหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่น ใบยาเส้นมวนที่ร้อยกันเป็นแพ ขะจาข้าว ไซหรือเครื่องจักสานขนาดจิ๋ว และบนยอดต้นสลากที่สูง 10 กว่าเมตร จะปักร่มกางไว้ ตามเชิงชายของร่มจะห้อยด้วยแก้วแหวนเงินทอง สร้อยขอ เข็มขัดเงิน อย่างสวยงาม ถวายเป็นเป็นทานแต่พระสงฆ์
ประเพณีสื่อรัก เปิดช่องทางให้หนุ่มสาวได้ดูตัว
นอกจากนี้การทำต้นสลากยังต้องอาศัยแรงงานจำนวนมาก ทั้งญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงทั้งหญิงและชาย โดยมากฝ่ายชายจะมาช่วยทำโครงต้นสลาก ส่วนฝ่ายหญิงจะช่วยทำงานหัตถกรรมเพื่อตระเตรียมไว้ตกแต่งต้นสลาก ช่วงเวลาการทำต้นสลากในอดีตจึงเป็นช่องทางในการเกี้ยวพาราสีและดูตัวระหว่างหญิงสาวและชายหนุ่มในหมู่บ้านด้วย
ไฮไลต์ประเพณีสลากย้อม
ลักษณะพิเศษของทานสลากย้อมคือ การนำประวัติของหญิงสาวที่เป็นเจ้าภาพงานหรือเป็น “ผู้ทานสลากย้อม” มาแต่งเป็นคำประพันธ์ นำมาผูกเล่าทำนองโบราณเป็นเรื่องตั้งแต่เกิด จนถึงปัจจุบัน เพื่อให้คนที่มาเที่ยวได้รับรู้ถึงประวัติและความดีงามของผู้ทานสลากย้อม
ลักษณะเช่นนี้เหมือนกับการ เรียกขวัญ (ฮ้องขวัญ) ให้กับนาคที่กำลังจะบวช เพื่อบอกเล่าประวัติของผู้ที่กำลังจะบวชให้รู้ว่า เป็นผู้ที่กำลังทำความดี สละทุกอย่าง เพื่อก้าวเข้าสู่บวรพระพุทธศาสนา
กำหนดจัดงาน “สลากย้อมเมืองลำพูน” 23-29 ก.ย.นี้
ประเพณีสลากย้อม จะจัดขึ้นที่ วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร จังหวัดลำพูน ในวันที่ 23-29 กันยายน 2566 โดยจะมีกิจกรรม
- 23 กันยายน 2566 กิจกรรมแถลงข่าวและการมอบรางวัล การประกวดต้นสลากย้อม ต้นใหญ่ สูง 12 เมตร และการแสดง ชุด”ย้อมสลากด้วยแสงสี” ที่ลานวัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร เริ่มเวลา 18.30 น.
- 27 กันยายน 2566 มีกิจกรรมการแต่งดาต้นสลาก พิธีเปิดกิจกรรมสลากย้อมเมืองลำพูน ชมการแสดงขบวนแห่สลากย้อม เมืองลำพูน ย้อมด้วยแสง และการแสดงทางวัฒนธรรม ณ ถนนอินทยงยศ อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน
- 28 กันยายน 2566 เวลา 16.30 น. ชมขบวนแห่ต้นสลากย้อม สูงตั้งแต่ 4 เมตร ถึง 8 เมตร จำนวนกว่า 20 ต้น
- 29 กันยายน 2566 เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป การถวายต้นสลากทุกประเภทแด่พระภิกษุสงฆ์ ทั่วทั้งจังหวัดลำพูน
แจกพิกัดเที่ยวรอบ “ลำพูน”
“ลำพูน” ดูเหมือนจะเป็นเมืองเล็กๆ แต่ที่จริงแล้วเต็มไปด้วยความหลากลาย ดังนั้นเมื่อเดินทางไปแอ่วเหนือ สัมผัสวัฒนธรรมประเพณีสลากย้อมทั้งที เพื่อไม่ให้เสียเที่ยว เราได้รวบรวมสถานที่ท่องเที่ยวมาฝากกันดังนี้
- “วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร” สถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองชาวลำพูนและชาวภาคเหนือตั้งแต่อดีต
- “พิพิธภัณฑ์ชุมชนเทศบาลเมืองลำพูน” อาคารเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี บอกเล่าประวัติความเป็นมาอันยาวนานของเมืองลำพูน
- “คุ้มเจ้ายอดเรือน” เรือนพักอาศัย ที่เจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย สร้างขึ้นเพื่อมอบให้แก่เจ้ายอดเรือน ชายาองค์สุดท้าย เมื่อปี พ.ศ.2470 มีความเก่าแก่และยังคงรักษาสภาพเดิมไว้ค่อนข้างสมบูรณ์
- “อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี วัดจามเทวี” วัดเก่าแก่ที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยล้านนาไทย
- “วัดมหาวัน” ต้นกำเนิดของพระรอดลำพูน พระเครื่องที่เลื่องลือในหมู่เซียนพระ สร้างมาแต่ครั้งพระนางจามเทวีขึ้นครองนครหริภุญชัยในราว พ.ศ.1200
- “วัดพระคงฤาษี” ในวัดนี้มี “พระคง” พระเครื่องที่มีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่นับถืออีกองค์หนึ่งของเมืองลำพูน
- “วัดสันป่ายางหลวง” เป็นวัดที่ติด 1 ใน 5 วัดสวยที่สุดในประเทศไทย
- “โบราณสถานกู่ช้าง กู่ม้า” หรือสุสานช้างศึก-ม้าศึก คู่บารมีของพระนางจามเทวี และเป็นที่ศรัทธาของชาวลำพูน เมื่อต้องการสมหวังในสิ่งใดผู้คนก็มักจะมาขอพรกัน
- “วัดพระยืน” ที่มีเจดีย์พระยืนเป็นศิลปกรรมพม่าที่มีความงดงาม
เปิดที่เที่ยวเดือนกันยายนที่ ททท.แนะนำ
นอกจากรับประสบการณ์ใหม่ ๆ จากประเพณีดังกล่าวแล้ว ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมายที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) อยากให้ได้เปิดประสบการณ์กัน ได้แก่
- มอหินขาว จังหวัดชัยภูมิ
- อุทยานแห่งชาติไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
- ภูสอยดาว จังหวัดอุตรดิตถ์
- แก่งลำดวน จังหวัดอุบลราชธานี (ชมกุ้งนับแสนตัวเดินขบวนทวนลำน้ำ กิจกรรมหนึ่งเดียวในโลกและ 1 ปีมีครั้ง)
- ลำน้ำเข็ก จังหวัดพิษณุโลก (ร่วมเทศกาลชิมกาแฟแก่งซอง และล่องแก่งลำน้ำเข็ก)
ถึงแม้ว่าเดือนกันยายนนี้จะไม่มีวันหยุดยาวเหมือนเดือนอื่น ๆ แต่ความน่าสนใจของประเพณี วัฒนธรรมต่าง ๆ ที่ควรเยี่ยมชม นับได้ว่าน่าท่องเที่ยวไม่ได้น้อยกว่าเดือนอื่นเลย
ขอบคุณข้อมูลจาก : จังหวัดลำพูน และ ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นไทย
ขอบคุณรูปจาก : จังหวัดลำพูน และ เทศบาลเมืองลำพูน