เจ้าของฟาร์มหมู ปรับแผนรับมือโรคระบาด
หนึ่งในพื้นที่เลี้ยงหมูที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดในหมู จนทำให้หมูตายเป็นวงกว้าง คือ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ที่พบว่ามีฟาร์มหมูหลายแห่งปิดกิจการลงไปแล้ว แต่จากการลงพื้นที่ของทีมข่าวพบว่าฟาร์มหมูบางฟาร์มที่ได้รับปรับแผนการเลี้ยงหมูใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการติดเชื้อ
หมูโตเต็มวัยที่กำลังกินอาหารสูตรผสมรำข้าว อาหารเม็ด และฟ้าทะลายโจร ภายในฟาร์มแห่งนี้ คือ หมูล็อตใหม่ที่นายคุณากร กิจฉลอง ผู้ดูแลฟาร์มหมูในพื้นที่หมู่ 5 ตำบลท่าข้าม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐมบอกว่าได้ปรับแผนการเลี้ยงหมูใหม่ จากเดิมที่ฟาร์มจะมีหมูทุกช่วงวัย เกือบ 1,000 ตัว แต่หลังจากเกิดการระบาดในเดือนเมษายนปีที่แล้ว ทำให้มีหมูตายเกือบ 200 ตัว และต้องทยอยขายหมูที่เหลือออกไปเกือบ 800 ตัว และฟาร์มได้ปิดปรับปรุงระบบใหม่
หมูแพง! ร้านหมูกระทะพัทยาขอตรึงราคาเพื่อลูกค้า
พาณิชย์ จ่อ คุมราคาหมู-ห้ามส่งออก ถ้าราคายังขึ้นต่อเนื่อง
มีการติดตาข่ายกันนก ซึ่งเป็นพาหนะของโรคคลุมเล้าหมูทุกหลังและเริ่มนำหมูโตที่หนักประมาณ 110-120 กิโลกรัม จำนวน 100 ตัว มาเลี้ยงไว้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ก่อนขายให้ลูกค้า เพื่อลดความเสี่ยงที่หมูจะติดเชื้อและตายก่อนขาย ซึ่งต้นทุนการซื้อหมูโต 100 ตัว อยู่ที่ประมาณ 7-8 แสนบาท ขายต่อได้กำไรประมาณ 2-3 แสนบาท
ขณะที่ต้นทุนอาหารหมูต่อวัน อยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท โดยเขามองว่ามาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่ออกมาตอนนี้ คนเลี้ยงหมูส่วนใหญ่ไม่ได้รับประโยชน์มากนัก เพราะต้นทุนทุกอย่างตอนนี้เจ้าของฟาร์มต่างๆ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเองอีกทั้งตอนที่มีการระบาดในช่วงแรกๆ ภาครัฐก็ไม่มีความชัดเจนว่าโรคที่ระบาดอยู่คือโรคอะไร
ด้านนายสัตวแพทย์ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล เรียกร้องให้ภาครัฐเร่งจ่ายเงินเยียวยาให้ฟาร์มหมูที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด หลังพบว่าบางฟาร์มผ่านมาแล้ว 10 เดือนแต่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยา พร้อมเรียกร้องให้ภาครัฐ เปิดเผยข้อเท็จจริงโรคระบาดที่เกิดขึ้นในตอนนี้คืออะไร เพราะหากไม่บอก ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ไม่รู้ว่าจะรับมือยังไง และหากปล่อยไว้แบบนี้เชื่อว่ามีโอกาสที่หมูในประเทศไทยอาจจะไม่เหลือ และประสบปัญหาคาดแคลนไปจนถึงสิ้นปีนี้
นายสัตวแพทย์ ปดิพัทธ์ ยังเชื่อว่าการที่ภาครัฐไม่กล้ายอมรับว่าโรคที่กำลังระบาดในตอนนี้คือโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู เพราะอาจกระทบกับการการส่งออกหมูและอาหารแปรรูปจากหมู ของกลุ่มนายทุนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับวงการนี้
ส่วนการประชุมพิกบอร์ด (Pig board) ที่ นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ บอกว่าวันนี้จะมีการประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ กรมปศุสัตว์ และห่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือเรื่องการแก้ปัญหาราคาหมูแพงและโรคระบาดในหมู พบว่าการประชุมดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้ว
ตามข้อมูลในรายงานแผนเตรียมความพร้อม เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู ที่สำนักงานควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์จัดทำเมื่อปี 2562 ระบุว่า ในช่วงปี 61-62 ไม่พบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาหมูในประเทศไทย แต่ยอมรับว่า โรคนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะพบ ในรายงานยังบอกอีกว่า หากไทยมีการระบาด จะทำให้เกิดความเสี่ยหายในระบบเศรษฐกิจและฟาร์มหมู มากกว่า 6 หมื่นล้านบาท
พีพีทีวี พูดคุยกับ สัตว์แพทย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องโรคระบาดในหมู ส่วนใหญ่ไม่สะดวกให้สัมภาษณ์เพราะมองว่า ตอนนี้ ภาครัฐยังไม่พูดชัดเจนว่า โรคที่ระบาดอยู่ ใช่โรคอหิวาต์แอฟริกาหมูหรือไม่แต่แหล่งข่าวเกือบทั้งหมด ย้ำว่า โรคที่กำลังระบาดในหมู ตอนนี้ ไม่ใช่โรคเพิร์ส เพราะโรคเพิร์สจะมีวัคซีนและยารักษาที่มีประสิทธิภาพ ทำให้อัตราการตายของหมูไม่สูงมากขณะที่ปัจจุบัน พบหมูตายในไทยหลักล้านตัว ในรอบ 2-3 ปี่ผ่านมา
เมื่อถามว่า แล้วโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู พบอัตราการตายอย่างไร แหล่งข่าวเกือบทั้งหมดบอกว่า โรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู มีอัตราการตายสูงถึง 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเป็นโรคระบาดที่รุนแรง และยังไม่มีวัคซีนและยารักษาโดยตรง
ด้าน องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) มีการจัดทำรายงานสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในภูมิภาคต่างๆ โดยในส่วนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2021 แสดงให้เห็นว่า ยังมีการระบาดของโรคนี้ในประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ ประเทศไทย หลายประเทศ ที่น่าสนใจ คือ ประเทศในแถบอาเซียน รอบไทย มีการทำรายงานการระบาดของโรคโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู เกือบทุกประเทศ
เช่น ฟิลิปปินส์ พบการระบาดครั้งแรก: กรกฎาคม 2019
มาเลเซีย พบการระบาดครั้งแรก: กุมภาพันธ์ 2021
อินโดนีเซีย พบการระบาดครั้งแรก: ปี 2019
เวียดนาม พบการระบาดครั้งแรก: กุมภาพันธ์ 2019
ลาว พบการระบาดครั้งแรก: มิถุนายน 2019
กัมพูชา พบการระบาดครั้งแรก: เมษายน 2019
เมียนมา พบการระบาดครั้งแรก: สิงหาคม 2019
ขณะที่ไทย ไม่พบการรายงานดังกล่าว แต่ในประเทศมีการพูดกันตลอด ว่า การพบหมูตายเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาใกล้กันกับประเทศเพื่อนบ้าน