ซากหมูตายถูกยัดในโอ่ง "ไม่มีที่ฝังกลบ"
มีหลักฐานที่น่าสนใจ เกี่ยวกับโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูที่อาจเชื่อได้ว่า ไม่ได้เพิ่งพบ ตามที่อธิบดีกรมปศุสัตว์บอก ว่า เพิ่งพบตัวอย่างการติดเชื้อ ที่จ.นครปฐมเป็นครั้งแรก พีพีทีวี ลงพื้นที่ จ.นครปฐม พบ ซากหมูหลายร้อยตัว ถูกยัดใส่ในโอ่ง เนื่องจากฝังกลบไม่หมดรวมถึงซากหมูบางตัวถูกปล่อยทิ้งไม่ได้ฝังกลบ และ คล้ายถูกทิ้งมานานแล้ว เนื่องจาก ซากเหลือแต่โครงกระดูก
ซากหมูหลายร้อยตัว ถูกยัดไว้ในโอ่งขนาดใหญ่ ทั้งหมด 9 โอ่ง ที่ถูกปิดด้วยกระเบื้องหลายชั้น เจ้าของฟาร์มหมูที่ อำเภอสามพราน จ.นครปฐม เปิดให้ทีมข่าวดู ยอมรับว่า ซากหมูในโอ่งอยู่ในสภาพเน่าเสีย ตายมานานหลายเดือน เพราะโรคระบาด ซึ่งเขาเชื่อว่าคือโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู
นอกจากนี้ยังพบว่า มีซากหมูตายอีกจำนวนมาก ถูกทิ้งไว้รอบๆฟาร์ม มีทั้งแบบฝังกลบ และ ปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้กลบ ในพื้นที่ยังพบว่ามีเนื้อที่ที่ปกคลุมด้วยพงหญ้าประมาณ 2 ไร่ ทีมข่าวเดินเข้าไปดูพบว่า มีซากกระดูกหมูอีกจำนวนมากถูกทิ้งแบบไม่ได้ฝังกลบ
เรียกร้องอธิบดีปศุสัตว์ลาออก รับผิดชอบโรค ASF
"เฉลิมชัย"สั่งตั้งคกก.สอบกรมปศุสัตว์ ปมไม่ได้รับหนังสือจากภาคีคณบดีคณะสัตวแพทย์ฯ
เจ้าของฟาร์ม ยอมรับว่า ที่ไม่ได้ฝังกลบซากหมู เพราะฝังไม่ไหว เนื่องจากหมูทยอยตายมานานแล้ว เฉพาะในเนื้อที่ 2 ไร่ ฝังกลบหมูไปแล้วกว่า1 พันตัว จนไม่มีพื้นที่จะฝังแล้ว เดิมทีเลี้ยงหมูเต็มที่ 5,000 ตัว แต่ตอนนี้เหลือหมูอยู่ไม่ถึง 50 ตัว
เจ้าของฟาร์มหมู เล่าว่า ในพื้นที่อำเภอสามพราน มีหมูทยอยตายมานานกว่า 2 ปีแล้ว และคนเลี้ยงหมูทราบดีว่าหมูเป็นโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู เพราะดูจากอาการหลังติดเชื้อหมูตายภายใน 2-3 วัน แต่ไม่มีใครแจ้งกรมปศุสัตว์ เพราะกลัวจะถูกปิดฟาร์ม ระบายหมูออกไปขายไม่ได้
ทีมข่าวติดต่อสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม เพื่อให้ชี้แจ้งกรณีพบการติดเชื้อ ASF ในโรงเชือด แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธให้ข้อมูล และไม่ให้เข้าพบผู้บริหาร แต่ระหว่างที่ประสานขอข้อมูลทีมข่าวสังเกตเห็นเอกสารการยื่นเรื่องขอเคลื่อนย้ายซากหมูเพื่อนำไปจำหน่าย โดยเอกสารมีจำนวนมากและแบ่งแยกออกเป็นฟาร์ม
ส่วนภาพรวมการดำเนินการของกรมปศุสัตว์ วันนี้ ไม่มีความเคลื่อนไหวอย่างเป็นทางการของอธิบดี มีแต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่า กำลังรวบรวมข้อมูลให้สื่อมวลชน
ส่วนกรณีที่ ครม. อนุมัติงบกลางปี 2565 รวม 574 ล้านบาทเพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู กำหนดว่าจะ ใช้งบประมาณเพื่อชดใช้ราคาหมูที่ถูกทำลายระหว่างวันที่ 23 มี.ค. 64 – 15 ต.ค. 64 ใน 56 จังหวัด มีเกษตรกรที่กรมปศุสัตว์ได้ทำลายหมูรวม 4,941 คน กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา มีเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับเงินค่าชดใช้ราคาสหมูรวม 159,453 ตัว คิด เป็นเงิน 574 ล้านบาท