ไขปม EEC ตั้งบริษัทลูกทับซ้อน"เมืองการบิน"
เมกะโปรเจกต์ยักษ์ใหญ่ของประเทศที่ต้องใช้เวลาการประมูลกว่า 1 ปี 7 เดือน ค้นหาผู้ให้ประโยชน์แก่รัฐสูงสุดเข้ามาพัฒนา โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งมีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท แต่วันนี้การทำงานหน่วยงานรัฐอย่าง อีอีซี กลับถูกตั้งคำถามถึงการจัดตั้งบริษัทลูกว่าทับซ้อนกับเอกชนที่ได้รับสัมปทานหรือไม่ PPTV รวบรวมความเห็นจากหลายภาคส่วน
ความชื่นมื่นเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการลงนามสัญญาร่วมลงทุนระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สกพอ. กับ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA ผู้รับสัมปทานโครงพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก
โครงการนี้ ถือเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นประตูเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งปี 2564 ที่ผ่านโครงการดำเนินการตามโรดแมป
องค์กรต้านโกง จับตาการตั้ง บ.ลูก “อีอีซี” หวั่นเอื้อประโยชน์เอกชน
BA ลงทุน“โรงซ่อมอากาศยาน”ต่อยอดเมืองการบิน
เริ่มจาก การจัดทำแผนแม่บท จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จัดหาพันธมิตรทั้งไทยและต่างประเทศ ตามลำดับขั้นตอน
แต่ในการประชุมคณะกรรมการอีอีซี เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา มีประกาศจัดตั้งบริษัทลูก คือ บริษัท อีอีซี พัฒนาสินทรัพย์สนามบิน จำกัด ขึ้นมา ทั้งนี้โครงการเมืองการบินอู่ตะเภาได้มีการลงนามไปเรียบร้อยแล้วถึง 2 ปี โดยที่น่าแปลกใจว่าคู่สัญญา คือบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ไม่รู้เรื่องนี้มาก่อน ทำให้เอกชนคู่สัญญาตั้งคำถามว่า จะเกิดการทับซ้อน มาแข่งกันเองหรือไม่ แล้วสาเหตุใดจึงต้องจัดตั้งบริษัทลูกอีอีซีขึ้นมา
ไม่เพียงแต่เอกชนคู่สัญญาที่ออกตั้งข้อสังเกต องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ก็มีการตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในเรื่องนี้ เพราะกังวลว่าอาจจะนำไปสู่การแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมกัน รวมทั้งขอให้เปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็น เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหา เหมือนกับ “หลายครั้งในอดีตที่มีการจัดตั้งบริษัทลูก แล้วหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตาม พรบ.จัดซื้อจัดจ้าง พรบ.ร่วมทุน ซึ่งอาจนำมาสู่คอรัปชันบ่อยครั้งมาก”
ขณะที่ความเห็นจากนักวิชาการด้านการบิน ดร.นวทัศน์ ก้องสมุทร มองว่า คณะกรรมการ อีอีซี ควรออกมาอธิบายให้ชัดเจนถึงความจำเป็นในการตั้งบริษัทลูก รวมทั้งมีกลไกตรวจสอบความโปร่งใส โดยอยู่บนผลประโยชน์ของประเทศ และ ไม่ทับซ้อนกับเอกชนที่รับสัมปทานมาอย่างถูกต้อง
สอดคล้องกับ ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ที่มองว่า แรงต้านการจัดตั้งบริษัทลูกอีอีซีจะลดลง หากคณะกรรมการอีอีซี สามารถอธิบายถึงผลบวก และประโยชน์ที่เกิดขึ้น เพราะการจัดตั้งบริษัทลูกสามารถทำได้ แต่รายละเอียดของการจัดตั้ง แนวทางการบริหารจัดการ และความโปร่งใสถือเป็นเรื่องสำคัญลำดับแรก
หลังจากนี้เราคงต้องติดตามท่าทีของคณะกรรมการอีอีซีว่าจะออกมาชี้แจงเพิ่มเติมอย่างไร หลังจากที่ อีอีซี แถลงข่าวชี้แจงหนึ่งครั้ง โดยยืนยันว่าบริษัทลูก จะถือหุ้นโดย EEC 100% และจะมาดำเนินการบริหารเฉพาะพื้นที่ Aviation Technical Zone หรือ ATZ ในพื้นที่ 474 ไร่ เพื่อนำมาทำศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ซึ่งเป็นคนละส่วนกับทาง UTA
ความโปร่งใสเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะจะช่วยสร้างความไว้วางใจในการร่วมทำธุรกิจร่วมกันระหว่างรัฐ และ เอกชน เพราะหากยังมีความคลุมเครือ อาจมีผลต่อความคืบหน้าและอนาคตเมกะโปรเจกต์ มูลค่า 300,000 ล้านบาท ที่เป็นเครื่องจักรในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ