4 เดือนคนใช้ "เบนซิน-แก๊สโซฮอล์ " วูบ ตามราคาปรับขึ้นถี่
ส่องสถานการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบ 4 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-เม.ย.) คนใช้น้ำมันเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ลดลง ขณะที่กลุ่มดีเซลได้แรงหนุนจากการบินเริ่มกลับมาคึกคัก
แนวโน้มราคาน้ำมันยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหลักมาจากสหภาพยุโรป (EU) พิจารณามาตรการคว่ำบาตรน้ำมันจากรัสเซียในการประชุมสุดยอด (Summit) ในวันที่ 30-31 พ.ค. 65 แต่หากย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงต้นปี จะเห็นว่าราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวสูงขึ้นมาโดยตลอด โดยเฉพาะกลุ่มเบนซิน และ แก๊สโซฮอล์ ขณะที่กลุ่มดีเซลยังคงมีการอุดหนุนราคาโดยกองทุนน้ำมันฯ ในช่วงที่ผ่านมา ก่อนจะสิ้นสุดเมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา
อียูระงับนำเข้าน้ำมันรัสเซียบางส่วน-รัสเซียหยุดส่งก๊าซให้เนเธอร์แลนด์
ราคาน้ำมันยังไม่เห็นแววปรับลง ความต้องการเพิ่ม กำลังการผลิตลด
และด้วยสถานการณ์ราคาที่ปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องส่งผลต่อการใช้น้ำมันของผู้บริโภคอย่างชัดเจน คือ
เบนซิน-แก๊สโซฮอล์วูบสวนทางราคาพุ่ง
การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเดือน ม.ค. – เม.ย. 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 29.60 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลดลง ร้อยละ 3.9) เนื่องจากราคาที่อยู่ในระดับสูง
- แก๊สโซฮอล์ 91 ลดลงมาอยู่ที่ 6.93 ล้านลิตร/วัน
- แก๊สโซฮอล์ 95 ลดลงมาอยู่ที่ 15.37 ล้านลิตร/วัน
- แก๊สโซฮอล์ อี20 ลดลงมาอยู่ที่ 5.74 ล้านลิตร/วัน
- และเบนซิน ลดลงมาอยู่ที่ 0.57 ล้านลิตร/วัน
- ขณะที่การใช้แก๊สโซฮอล์ อี85 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.99 ล้านลิตร/วัน
กลุ่มดีเซลเพิ่มขึ้นจากตรึงราคา การบิน ท่องเที่ยว ภาคขนส่ง กลับมาคึกคัก หลังรัฐผ่อนคลายมาตรการเดินทาง
การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเดือนม.ค. – เม.ย 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 77.28 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.7)
- น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 การใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 66.65 ล้านลิตร/วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 68.0)
- น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ซึ่งเริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค. 2562 ปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 3.39 ล้านลิตร/วัน
- น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีปริมาณการใช้ 0.21 ล้านลิตร/วัน
การใช้ที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น และมาตรการช่วยเหลือโดยตรึงราคาให้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร
ส่วนการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 7.22 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน(เพิ่มขึ้น ร้อยละ 48) เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการการบินและการเดินทางเข้า-ออกประเทศ การใช้ Test & Go เวอร์ชั่นใหม่ การปรับพื้นที่สีเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19
LPG เพิ่ม - NGV ทรงตัวจากการคงราคาขายปลีก และมาตรการ NGV เพื่อลมหายใจเดียวกัน
นอกจากนี้ การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 17.77 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.3) เนื่องจากการใช้ในภาคปิโตรเคมีที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ 7.93 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.3) ภาคขนส่งที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.01 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9) และภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.02 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.1) สำหรับการใช้ในภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 5.80 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.0)
สวนมะนาวโอด ปุ๋ยแพง-ราคาตก ถอดใจเลิกทำอาชีพหลายราย
ก.ล.ต.เปิดรับฟังความเห็นปชช. เกณฑ์คุม “utility token พร้อมใช้”
เช่นเดียวกับ การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 3.29 ล้านกก./วัน ทรงตัวอยู่ในระดับเดิม (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.01) โดย ปตท. ขยายระยะเวลาการคงราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ที่ 15.59 บาท/กิโลกรัม และราคาขายปลีก NGV สำหรับรถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเคยได้รับสิทธิผ่านมาตรการ NGV เพื่อลมหายใจเดียวกันที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม จนถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2565 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงาน และการแพร่ระบาดของโควิด-19
ราคาน้ำมันโลกทะยานแรง-ค่าบาทอ่อน-ความต้องการสูง มูลค่าการนำเข้าน้ำมันพุ่งขึ้นเกือบ 100%
การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนมกราคม – เมษายน 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,018,628 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.4)
- นำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 951,689 บาร์เรล/วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.1) สอดคล้องกับความต้องการใช้ในประเทศที่สูงขึ้น โดยมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 96,646 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 96.5) มูลค่าการนำเข้าที่สูงขึ้นนี้เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและเงินบาทที่อ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมาของปี 2565
- สำหรับการนำเข้า น้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 66,938 บาร์เรล/วัน คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 5,801 ล้านบาท/เดือน
การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเดือนมกราคม – เมษายน 2565 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตาน้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกลดลงมาอยู่ที่ 155,522 บาร์เรล/วัน (ลดลง ร้อยละ 8.6) คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 17,464 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 70.2)
อย่างไรก็ตาม นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ระบุว่า ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันเดือนมกราคม – เมษายน 2565 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.2 เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว
4 เรื่องที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับกฎหมาย PDPA หรือ พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคล
อนามัยโลกชี้ “ฝีดาษลิง” เป็น “ภัยเสี่ยงระดับปานกลาง” ต่อสาธารณสุขโลก