ครม.ใจป้ำ ให้รถไฟ กู้เงินบรรเทาการขาดสภาพคล่อง ปีงบฯ 66 กว่า 15,000 ล้าน
คณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้การรถไฟฯ กู้เงินบรรเทาการขาดสภาพคล่องในปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 15,200 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กู้เงินเพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่องในปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 15,200 ล้านบาท และเงินกู้ระยะสั้นวงเงิน 1,500 ล้านบาท โดยให้ดำเนินการคัดเลือกสถาบันการเงิน ด้วยวิธีการประมูลวงเงินกู้ระยะสั้นตามความเห็นของกระทรวงการคลัง โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน รวมทั้งพิจารณาวิธีการกู้เงิน เงื่อนไขและรายละเอียดตามความเหมาะสม
แบงก์เปิดบริการปกติ 16-18 พ.ย. แต่ส่วนไม่เกี่ยวบริการทำงานที่บ้านได้
สลากดิจิทัล งวด 1 พ.ย.65 จำหน่ายเพิ่ม 15 ล้านใบ ปีหน้าเล็งโอนเงินให้คนถูกรางวัลภายใน 2 ชม.
อย่างไรก็ตาม รฟท.จะกู้เงินได้ภายหลังจากวงเงินกู้ได้รับการบรรจุไว้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว โดยที่ผ่านมาครม.มีมติเห็นชอบให้รฟท.ดำเนินการกู้เงิน เพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่อง และเงินกู้ระยะสั้นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา โดย รฟท.ได้ขอกู้เงินเพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่องรวมแล้วจำนวน 88,905 ล้านบาท
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม รายงานว่า รฟท.ประสบปัญหาขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2566 รฟท.คาดการณ์ว่าจะมีเงินสดรับ 59,320 ล้านบาท และเงินสดจ่าย 74,620 ล้านบาท โดยมีเงินสดยกมาจากปี 2565 จำนวน 100 ล้านบาท ส่งผลให้ รฟท.ขาดเงินสดไว้ใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 15,200 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องกู้เงินจำนวนดังกล่าว เพื่อให้มีเงินสดหมุนเวียนในการใช้จ่ายดำเนินงาน การลงทุน การจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญ และการชำระหนี้เงินกู้ โดยคาดว่า รฟท.จะเริ่มขาดเงินในช่วงเดือนตุลาคม 2565
สำหรับเงินวงเงินกู้ระยะสั้น 1,500 ล้านบาท จะเป็นวงเงินสำรองสำหรับกรณีที่ต้องมีการใช้จ่ายเร่งด่วน เนื่องจากปัจจุบัน ร.ฟ.ท. มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่หลายโครงการต้องบริหาร ขณะที่รายจ่ายด้านต่างๆ เช่น การบำรุงรักษาทาง อาณัติสัญญาณ รถจักรล้อเลื่อนและการบริหารต่างๆ ยังคงเดิม แต่ ร.ฟ.ท. ยังมีภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง และอาจประสบภาวะเงินสดขาดมือในบางช่วง จึงจำเป็นต้องเปิดวงเงินกู้ระยะสั้นในกรอบ 1,500 ล้านบาทข้างต้น สำหรับการสำรองเงินให้แก่ผู้รับจ้าง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายการดำเนินงานต้องกระทบกระเทือนหรือหยุดชะงัก