2 แผลเป็นทางเศรษฐกิจจากโควิด-19
โควิด-19 ฝากรอยแผลเป็นใหญ่ๆ ไว้ 2 รอย ซึ่งอาจเกิดคำถามว่าเศรษฐกิจไทยที่หายป่วยจากโควิด-19 แล้วนั้นยังแข็งแรงเหมือนเดิมหรือไม่
ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยผ่าน บทความโดยสรุปคือ แผลเป็นทางเศรษฐกิจของวิกฤตโควิด-19 ที่เห็น มีอย่างน้อย 2 แผล
น้ำมันดิบ “ยังขาลง” ตลาดห่วง ศก.ถดถอย - รอ ปธ.เฟด แถลงคืนนี้
ฟื้นตัวจากโควิด-19 แต่ธุรกิจรายเล็กยัง "แย่"
- แผลแรกคือหนี้ครัวเรือน
- แผลที่สองคือคุณภาพแรงงาน
แผลเป็นแรกหนี้ครัวเรือน
หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยในช่วงปีแรกของการระบาดของโควิด-19 พุ่งขึ้นเกินกว่าร้อยละ 90 ซึ่งสูงที่สุดในโลกสำหรับประเทศที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจในระดับเดียวกัน
แม้ข้อมูลล่าสุด พบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยจะปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 86.8 และยังมีแนวโน้มลดลงไปอีก จากจีดีพีที่ปรับดีขึ้น แต่คาดว่าจะไม่ลงไปต่ำกว่าร้อยละ 85 ซึ่งจากงานศึกษาในต่างประเทศ พบว่า ในประเทศส่วนใหญ่ ระดับหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่สูงกว่าร้อยละ 80 จะฉุดรั้งอัตราการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่สำคัญ อธิบายง่ายๆว่า ครัวเรือนที่มีระดับหนี้สูง ต้องเอารายได้ส่วนใหญ่ไปชำระหนี้ก่อนที่จะเอาไปใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น
แผลเป็นที่สอง คุณภาพแรงงาน
การเรียนออนไลน์และการหยุดเรียนเป็นระยะในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักมีผลกระทบทางลบต่อคุณภาพการเรียนการสอนของนักเรียนนักศึกษาทุกระดับ โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษาครัวเรือนรายได้น้อย
นอกจากความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษาที่เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 แล้ว จำนวนนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 ในช่วง 2 ปี จากต่ำกว่า 1 ล้านคนเล็กน้อยในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 เป็น 1.3 ล้านคน ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565
นัยของตัวเลขนี้ คือ นักเรียนยากจนพิเศษมีความเสี่ยงสูงมากที่จะหลุดออกไปจากระบบการศึกษา และเมื่อหลุดออกไปแล้ว มักจะไม่กลับเข้ามาอีก ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขอย่างทันท่วงที จะเป็นตัวถ่วงคุณภาพแรงงานไทยในอนาคต
มาตรการที่ตรงจุดจะช่วยจัดการรอยแผลเป็นได้
ดร.ดอน กล่าวว่า ส่วนของหนี้ครัวเรือน ปัจจุบัน ธปท. อยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน (Directional paper) เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้าใจปัญหาหนี้ ครัวเรือนและร่วมกันแก้ไขปัญหา ภายใต้หลักการ "ทำครบวงจร - ทำถูกหลักการมีสมดุลที่ดี - ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน" เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนเชิงโครงสร้างอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ และเมื่อหนี้มีปัญหา
ส่วนของนักเรียนยากจนพิเศษ เชื่อว่า หากข้อเสนอการปรับปรุงอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข หรือ 'ทุนเสมอภาค' ของ กสศ. ให้สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจในปัจจุบัน สำหรับปีงบประมาณ 2567 ได้รับการตอบสนอง น่าจะช่วยรักษานักเรียนยากจนพิเศษส่วนหนึ่งให้อยู่ในระบบต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม จากประมาณการล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.7 ต่อปี ในปี 2566 และร้อยละ 3.9 ต่อปี ในปี 2567 ตามลำดับ
และหลังต่อสู้กับผลพวงทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 มายาวนานเกือบสามปี ปี 2566 จะเป็นปีแรกที่จีดีพี (มูลค่าที่แท้จริง) ของเศรษฐกิจไทยทั้งปีสูงกว่าจีดีพี (มูลค่าที่แท้จริง) ของปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19
อ่านบาทความฉบับเต็ม : แผลเป็นทางเศรษฐกิจจากโควิด-19