Smart City ไทย ไปถึงไหน? ปี 66 เพิ่มขึ้นเป็น 45 แห่ง
คืบหน้า Smart City ของไทยในปี 2566 ช่วง 1 ปี มีเมืองอัจฉริยะ 30 แห่ง และปีนี้จะเพิ่มเป็น 45 แห่ง ที่ผ่านการรับรองตราสัญลักษณ์เป็นเมืองอัจฉริยะ
นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า (depa) เปิดเผยกับพีพีทีวีว่า ในช่วงปี 2564-2565 ที่ผ่านมา มีเมืองอัจฉริยะ 30 แห่งทั่วประเทศ ที่ผ่านการรับรองตราสัญลักษณ์เป็นเมืองอัจฉริยะ เช่น เชียงใหม่ ลำปาง ขอนแก่น กทม. นครสวรรค์ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี อุบลราชธานี พิษณุโลก ยะลา สงขลา รวมถึง 3 จังหวัดชายแดนใต้
ปลื้ม! เชียงใหม่ ติดอันดับ 1 เมืองปลอดภัย ที่สุดในอาเซียน
“กสิกรไทย” ปรับเป้าปี 66 นทท.เข้าไทยทะลุ 30 ล้านคน ดันจีดีพี แตะ3.7%
ซึ่งในความหมายของ Smart city หรือ เมืองอัจฉริยะ คือ
เมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากรของเมืองและประชากรเป้าหมาย
โดยเน้นการออกแบบที่ดี และการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข อย่างยั่งยืน
ส่วนในปี 2566 ตั้งเป้าขึ้นทะเบียนเมืองอัจฉริยะเพิ่มขึ้นอีก 15 แห่ง เช่น ในพื้นที่บ้านฉาง จ.ชลบุรี และ พื้นที่เทศบาลในพื้นที่จ.เชียงใหม่ รวมถึงบางพื้นที่ในกรุงเทพฯ ทำให้ภายในปี 2566 จะมีเมืองอัจฉริยะ เพิ่มขึ้นเป็น 45 แห่ง
สำหรับลักษณะของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน ประกอบด้วย
บุก True Digital Park โมเดลของการจัดการสิ่งแวดล้อม
1.สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) เป็นเมืองที่มุ่งเน้นปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ เช่น การจัดการน้ำ การดูแลสภาพอากาศ การเฝ้าระวังภัยพิบัติ เป็นต้น
2.การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) เป็นเมืองที่มุ่งเน้นเพิ่มความสะดวก ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยในการเดินทางและขนส่ง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
3.การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) เป็นเมืองที่มุ่งเน้นให้บริการที่อำนวยความสะดวกต่อการดำรงชีวิต เช่น การเพิ่มความปลอดภัยของประชาชนด้วยการเฝ้าระวังภัยจากอาชญากรรม ไปจนถึงการส่งเสริมให้เกิดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการดำรงชีวิตที่เหมาะสม
4.พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) เป็นเมืองที่มุ่งเน้นพัฒนาพลเมืองให้มีความรู้และสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต
5.พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) เป็นเมืองที่มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเมือง หรือ ใช้พลังงานทางเลือกอันเป็นพลังงานสะอาด (Renewable Energy) เช่น เชื้อเพลงชีวมวล ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น
6.เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) เป็นเมืองที่มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ สร้างให้เกิดความเชื่อมโยงและความร่วมมือทางธุรกิจ และประยุกต์ใช้นวัตกรรม ในการพัฒนาเพื่อปรับเปลี่ยนธุรกิจ เช่น เมืองเกษตรอัจฉริยะ เมืองท่องเที่ยวอัจฉริยะ เป็นต้น
และ 7.การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) เป็นเมืองที่มุ่งเน้นพัฒนาระบบบริการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐสะดวก รวดเร็ว เพิ่มช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชน
การจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น เมืองอัจฉริยะ อย่างเป็นทางการในประเทศไทย หน่วยงานที่เป็นผู้พิจารณา คือ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะและได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ที่มีนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานอนุกรรการโดยตำแหน่ง
Smart City ได้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี
Smart City ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนพัฒนาทั้งพื้นที่ ระบบ และนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมเมืองอัจฉริยะ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทกิจการ ได้แก่
1.กิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ กำหนดเงื่อนไขสำคัญ คือจะต้องเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของทุนจดทะเบียน ต้องจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารที่พร้อมรองรับระบบอัจฉริยะด้านต่างๆ จัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะด้านสิ่งแวดล้อม (Smart Environment) และจะต้องลงทุนจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะด้านอื่นๆ อีกอย่างน้อย 1 ด้าน จาก 6 ด้าน (Smart Mobility, Smart People, Smart Living, Smart Economy, Smart Governance, Smart Energy) ต้องมีระบบจัดเก็บและบริหารข้อมูลโดยมีการเชื่อมโยงหรือการให้ใช้งานข้อมูลในการบริหารจัดการและให้บริการในพื้นที่เมืองอัจฉริยะ และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่
ผู้ขอรับการส่งเสริมฯ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8 ปี (จำกัดวงเงิน) และในกรณีที่ตั้งโครงการอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
2.กิจการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะ กำหนดเงื่อนไขสำคัญ คือ ต้องมีการพัฒนา ติดตั้ง
และให้บริการเมืองอัจฉริยะที่เหมาะสมในด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้านตามที่คณะกรรมการกำหนด เช่น Smart Environment, Smart Mobility, Smart People, Smart Living, Smart Economy, Smart Governance และ Smart Energy เป็นต้น โดยจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
ผู้ขอรับการส่งเสริมฯ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8 ปี (จำกัดวงเงิน) และหากตั้งโครงการอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล