กยศ. ชี้หนี้เฉียด 5 แสนล้านบาท ไม่น่ากังวล
ดูปัญหาเรื่องหนี้กันบ้าง ตัวเลขหนี้ครัวเรือนไตรมาส 1 ปี 2566 เพิ่มสูงขึ้น มูลหนี้เกือบ แตะ 16 ล้านล้านบาท หรือมีสัดส่วนถึง 90% ต่อจีดีพี ซึ่งแม้แบงก์ชาติจะบอกว่า ไม่ใช่ตัวหนี้ใหม่ แต่ยังคงเป็นห่วงกลุ่มเปราะบาง ที่อาจมีปัญหาในการชำระคืน ขณะที่ผู้จัดการกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา บอกว่า หนี้การศึกษา เฉียด 500,000 ล้านบาท ไม่น่ากังวล
แบงก์ชาติ เปิดเผย หนี้ครัวเรือนไตรมาสแรกปีนี้ มีมูลหนี้อยู่ที่ 15.96 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นจากเดิม อยู่ที่ 15.2 ล้านล้านบาท หรือ 86.3% ต่อจีดีพี หลังจากที่แบงก์ชาติ ปรับปรุงข้อมูลหนี้ครัวเรือนใหม่ โดยเพิ่ม 4 กลุ่มหนี้สำคัญเข้ามาเพิ่มเติม คือ หนี้ของกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ., หนี้สหกรณ์อื่นๆ , หนี้พิโกไฟแนนซ์ และหนี้การเคหะแห่งชาติ เพื่อให้หนี้ครัวเรือนครอบคลุมมากขึ้น
โดยหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นเป็นหนี้เพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ประมาณ 483,000 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 1 เป็น 4% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด
เร่งออกกฎหมายลูกรับ พ.ร.บ. กยศ. ฉบับใหม่ ลดต้นลดดอก ปลดหนี้เร็วขึ้น
ยื่นกู้ผ่านออนไลน์ กยศ.เปิดแอปฯ กยศ. Connect ถึง 31 ก.ค.
ทีมข่าวพีพีทีวีได้พูดคุยกับนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า หนี้ของกยศ. ซึ่งอยู่ที่ 483,000 ล้านบาท ไม่ใช่ตัวเลขที่น่าตกใจ เพราะกองทุนให้กู้ทุกปี ปีละประมาณ 40,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้นตัวเลขก็จะเพิ่มขึ้นทุกปี
โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 พบว่า มีผู้กู้หนี้กยศ. ประมาณ 6 ล้าน 4 แสน ราย รวมมูลค่า 728,363 ล้านบาท อยู่ระหว่างการชำระหนี้เกือบ 4 ล้านราย ปลดหนี้แล้ว 1 ล้าน 7 แสน ราย และผิดนัดชำระหนี้ 2 ล้าน 1 แสน ราย
โดยเฉพาะเมื่อเจอวิกฤตโควิดทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง หนี้เสียมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีหนี้เสียอยู่ที่ 90,000 ล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้นหนี้กยศ. มักเป็นหนี้ที่ถูกละเลย
ผู้จัดการ กยศ. กล่าวด้วยว่า แม้ว่ามาตรการลดหย่อนหนี้ กยศ.หมดไปเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่นายชัยณรงค์ ยืนยันว่ากยศ. พร้อมช่วยเหลือลูกหนี้ มีน้อยใช้น้อย มีมากใช้มาก ขอเพียงแค่ติดต่อกยศ. ยินดีช่วยเสมอ
ด้านน.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน แบงก์ชาติ กล่าวว่าหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ตัวเลขหนี้ใหม่ เป็นหนี้เดิมที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ถูกนำมาคำนวณให้ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งเมื่อดูสัดส่วนหนี้แล้ว พบว่า 34% เป็นสินเชื่อบ้าน , 11% เป็นหนี้รถยนต์ และ 27% เป็นสินเชื่อบัตรเครดิต ส่วนอีก 28% เป็นสินเชื่ออื่นๆ เช่น กยศ.
สำหรับแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. มองว่า ตัวเลขหนี้เสียอาจปรับขึ้นบ้าง จากกลุ่มเปราะบางที่รายได้น้อย หรือรายได้ยังไม่ฟื้นตัว แต่จะไม่เห็นเอ็นพีแอลพุ่งแบบก้าวกระโดด ซึ่งเชื่อว่าปัญหาหนี้เสียยังบริหารจัดการได้
ส่วนแนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน แบงก์ชาติ จะดำเนินการดูแลสถาบันการเงิน ให้ปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ และ เป็นธรรม ในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะกับความเสี่ยง และจะควบคุมหนี้ไม่ให้อยู่ในระดับสูงเกินไป