แจกเงินดิจิทัล 10,000 นโยบายเรือธง พรรคเพื่อไทยแต่ทำได้ยาก
วิจัยแบงก์ใหญ่ มอง นโยบายแจกเงิน 10,000 บาท เป็นเรือธงที่ทำได้ยากแต่ต้องทำให้ได้ แม้ข้อจำกัดเยอะ
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว พีพีทีวี ระบุว่า ในหลักการนโยบายแจกเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาทต่อคนของพรรคเพื่อไทย ใช้วงเงินงบประมาณระดับ 500,000 ล้านบาท
งบประมาณอาจมาจากการออกพันธบัตร หรือการตัดทอนงบประมาณส่วนอื่นมาใช้
ซึ่งผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจคือการมีเม็ดเงินอัดฉีดหมุนเวียนเข้าไปในระบบ กระตุ้นจีดีพีของประเทศไทยกระเตื้องขึ้นได้ประมาณ 0.7% GDP
อย่างเร็วน่าจะเกิดขึ้นได้ในช่วงเดือนมกราคมปี 2567 จากนั้นมีเวลาให้ใช้จ่ายราว 6 เดือน ย่อมกระตุ้นการบริโภคในครึ่งปีแรกได้ รวมถึงลดผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย
เป็นนโยบายที่ทำได้ค่อนข้างยาก
อย่างไรก็ตาม ดร.ปิยศักดิ์ ตั้งข้อสังเกตหลักไว้น่าสนใจว่า เป็นนโยบายที่ทำได้ค่อนข้างยาก ได้แก่ ตัวงบประมาณที่ใช้อาจแตะระดับ 5.6 แสนล้าน ในความเป็นจริงจะนำมาจากส่วนไหน หากไปดึงมาจากงบประมาณอื่นๆ การกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่นก็หายไปเช่นกัน แล้วที่คาดกันว่าผลจะทวีคูณ 2-3 เท่า จะได้เงินกลับมา 2-3 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคนั้น การคำนวณของนักเศรษฐกิจก็มองว่าอาจกระตุ้นได้ไม่ถึงขนาดนั้น
ถัดมาคือเรื่องแพลตฟอร์มที่จะใช้แจกเงินให้กับ 50 ล้านคน ยังมีคำถามทั้งการยืนยันตัวตนจะทำอย่างไร การใช้จ่ายจะรองรับได้เพียงพอไหม หากสแกนกินข้าวเที่ยงพร้อมกันสัก 10% ก็แตะ 7 ล้านคนเข้าไปแล้ว ซึ่งเป็น 10 หรือเป็น 100 เท่าของธุรกรรมปกติที่แอปฯทั่วไปจะรองรับได้จึงต้องติดตามต่อ
แจกเงินดิจิทัล 10,000 ติดขัดกฎหมาย พระราชบัญญัติแบงก์ชาติ
ประเด็นต่อมาคือ “เงินดิจิทัล” ที่พรรคเพื่อไทยเคยพูดไว้ว่าจะทำเป็นเงินเสมือน คล้ายๆ กับคูปอง คำถามสำคัญที่ตามมาเมื่อประชาชนนำเงินนี้ไปใช้จ่ายแล้ว ร้านค้าจะเอาไปใช้ต่ออย่างไร เพราะคนใช้ก็บังคับให้ใช้แค่ใน 4 กิโลเมตร แล้วหากเขาจะนำไปซื้อหมูปิ้งในตลาด เป็นไปไม่ได้ที่จะอยู่ใน 4 กิโลเมตรอยู่แล้ว ยิ่งทำให้การหมุมของเงินยากเข้าไปอีก
ตามหลักแท้จริงจะให้เงินหมุนได้ควรใช้ผู้คนใช้จ่ายได้สะดวก แล้วเงินไปฝากที่ธนาคาร จากนั้นธนาคารปล่อยกู้ คนฝากรับดอกเบี้ยต่อ แบบนี้เงินจะหมุนได้มากกว่า หากเป็นเงินสดหรือเป็นเครดิตไม่ได้ก็น่าสงสัยว่าจะหมุนได้อย่างไร
กลับกันถ้าบอกว่าเงินดิจิทัลนี้เป็นเงินสดใช้จ่ายได้ปกติเลย จะไปติดขัดพระราชบัญญัติแบงก์ชาติ ซ้ำเข้าไปอีก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายแน่ๆ หากจะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยแก้กฎหมายฉบับนี้ เพราะเรื่องการใช้สกุลเงินอื่นแทนเงินบาทเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก
ดังนั้น นโยบายนี้สรุปได้ว่า ยากมากในเชิงปฎิบัติ ทั้งกฎระเบียบ เทคโนโลยี แต่เป็นนโยบายเรือธงที่พรรคเพื่อไทยต้องทำให้ได้ ดูจากโผคณะรัฐมนตรีถ้าตัวคุณเศรษฐา ทวีสิน ถ้ามานั่งคุมเก้าอี้รัฐมนตรีคลังเองก็เป็นนัยชัดเจนว่าเขาต้องเอาให้ได้ เพราะถ้าทำนโยบายเรือธงไม่ได้ ความชอบธรรมที่เคยหาเสียงว่าแก้ปัญหาเศรษฐกิจจะหายไปในทันที
พรรคเพื่อไทย ย้ำไม่มีแอปฯเงินดิจิทัล 1 หมื่น ใช้ได้ครึ่งปีแรก 67
เปิดโผหุ้นเก็งกำไร รับกระแสรัฐบาลใหม่แจก “เงินดิจิทัล 10,000 บาท”
ใช้แอปฯเป๋าตัง อาจเป็นทางออกแจกเงินหมื่นร่วมรัฐบาลกันอยู่แล้วไร้ปัญหา
นอกจากปัญหาเงินงบประมาณกับข้อกฎหมายที่เป็นโจทย์ใหญ่ๆ ของพรรคเพื่อไทยแล้ว การฉ้อโกงก็เป็นอีกปัญหาที่จะตามมาเหมือนกับช่วงของการแจกเงินเราไม่ทิ้งกัน ม.33 เรารักกัน มีการนำไปแลกเงินสดจนกระทรวงการคลังต้องตามล้างตามเช็ดจนถึงทุกวันนี้
ดังนั้นทางออกที่น่าสนใจอาจเป็นการต่อยอดผ่าน “แอปพลิเคชันเป๋าตัง” ที่ธนาคารกรุงไทยจัดทำทั้งยังเป็นธนาคารของรัฐอยู่แล้ว และตอนนี้พรรคเดิมที่เคยดูแลอย่าง รวมไทยสร้างชาติ-พลังประชารัฐ ก็ร่วมรัฐบาลกันด้วยไม่น่าจะดีต่อทุกฝ่าย จึงมองว่าหากนำมาต่อยอดก็เป็นแพลตฟอร์มที่ดี ด้วยฐานข้อมูลเดิมมีกว่า 40 ล้านคน เพียงแค่จะไม่ใช่เงินรูปแบบดิจิทัลเท่านั้น
ขณะเดียวกันนโยบายนี้ต้องยอมรับว่ามีข้อดีใหญ่ ๆ อยู่เช่นกันนอกจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ หากทำได้จริงแล้วรัฐบาลนำร้านค้า รายเล็ก รายน้อย เข้ามาจดทะเบียนในระบบฐานภาษีให้กว้างขึ้น จนนำไปสู่การยื่นภาษี การจดทะเบียน การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอนาคตด้วย