"สุริยะ" เซ็นสายสีส้มวันนี้ เปิดใช้ปี 73 ปชช.หวังค่าโดยสาร 20 ตลอดสาย
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯและรมว.คมนาคม เป็นประธานเซ็นสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เสนอลดค่าโดยสาร 10 ปี เร่งเปิดให้บริการปี 73
นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการฯ รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน และเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุน “โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)” ตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ของ รฟม. โดยมีบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ชนะการคัดเลือก
โดย BEM เสนอผลประโยชน์สุทธิต่อรัฐต่ำที่สุด โดยขอรับเงินสนับสนุนค่าก่อสร้างงานโยธาพร้อมดอกเบี้ยระหว่างก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วงเงินรวม 95,432 ล้านบาท และเสนอผลตอบแทนให้ รฟม.เป็นเงินรวม 10,000 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญาร่วมลงทุน นอกจากนี้ BEM ยังเสนอลดค่าโดยสารเป็นเวลา 10 ปี นับจากเปิดให้บริการโครงการในส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ใช้บริการระบบรถไฟฟ้าสายสีส้มกว่า 13,000 ล้านบาท
ขณะที่ในช่วงบ่ายวันนี้ (18 ก.ค. 67) รฟม.มีหนังสือแจ้งให้ BEM มาลงนามในสัญญาร่วมลงทุน โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ที่ รฟม. ภายหลังการลงนามสัญญา รฟม.จะยื่นหนังสือแจ้งให้ BEM เริ่มงานก่อสร้าง
เบื้องต้นมีแผนเปิดให้บริการโครงการส่วนตะวันออกก่อนในเดือนพฤษภาคม 2571 และเปิดให้บริการตลอดทั้งเส้นทาง ทั้งส่วนตะวันออกและตะวันตก ในเดือนพฤศจิกายน 2573 อย่างไรก็ตาม รฟม.จะกำกับและเร่งรัดกระบวนการก่อสร้าง รวมถึงเจรจากับ BEM ให้เปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก ได้ก่อนกำหนดการภายในต้นปี 2571
ทีมข่าวพีพีทีวีไปสำรวจความเห็นประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี ซึ่งโครงการส่วนนี้มีการเดินหน้าก่อสร้างงานโยธาเสร็จเรียบร้อยแล้ว พบว่าประชาชนส่วนใหญ่อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสร้างและเปิดใช้งานโครงการให้เร็วที่สุด เพราะจะได้ช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น เช่น ถนนรามคำแหง แยกลำสาลี และจะช่วยร่นระยะเวลาในการเดินทาง เชื่อมฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันตก มายังฝั่งตะวันออกได้สะดวกขึ้น เพราะปัจจุบันหากจะเดินทางจากกรุงเทพฯ ชั้นใน มายังโซนตะวันออก บางคนต้องนั่งรถขนส่งสาธารณะไม่ต่ำกว่า 4-5 ต่อ ทำให้เสียเวลาในการเดินทาง และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันประชาชนบางส่วนแม้จะเข้าใจถึงปัญหาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีการฟ้องร้องกันในชั้นศาลจึงทำให้โครงการล่าช้า แต่ฝากไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากเป็นไปได้อยากจะให้ทยอยเปิดใช้งานบางส่วนก่อน เพื่อให้ประชาชนเดินทางได้สะดวกมากขึ้น
ส่วนราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า ประชาชนส่วนใหญ่อยากให้รัฐบาลนำมาตรการค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายมาใช้กับรถไฟฟ้าสายสีส้มด้วย แม้เอกชนที่ชนะการประมูลจะเสนออุดหนุนค่าโดยสารเป็นระยะเวลา 10 ปี แต่กังวลว่าหากสิ้นสุดระยะเวลาการอุดหนุนจะทำให้ราคาค่าโดยสารกลับมาแพงขึ้น จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงบริษัทที่ได้รับสัมปทานเดินรถคำนวณค่าโดยสารในราคาที่เป็นธรรมกับประชาชน เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพและจะได้เป็นทางเลือกในการเดินทางให้กับประชาชน
"ยางู หมายเลข 7" สมุนไพรไทยที่ชาวเวียดนามนิยม
รวมชุดทีมชาติเข้าร่วมทำศึกโอลิมปิก ปารีสเกมส์ 2024
แจ๊ส ชวนชื่น บุกรวบ สารวัตรแจ๊ะ ถึงสืบนครบาล ตั้งข้อหาหนักจนเป็นไวรัล