สหภาพแรงงานรถไฟ บุก กทม. ทวงค่าเช่าที่ตลาดนัด 672 ล้าน
สหภาพแรงงานรถไฟ บุก กทม. ทวงค่าเช่าที่ตลาดนัดสวนจตุจักร 672 ล้านบาท ลั่นหากยังไม่จ่ายเตรียมเสนอ รฟท.นำที่ดินกลับมาบริหารเอง
นายสราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) พร้อมด้วยตัวแทนคณะกรรมการสภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือต่อนายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อทวงถามกรณีที่ กทม. ค้างชำระค่าใช้ประโยชน์ในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริเวณตลาดนัดสวนจตุจักรรวมกว่า 672 ล้านบาท โดยยืนยันว่าหากยังไม่จ่ายเตรียมเสนอ รฟท. นำที่ดินกลับมาบริหารเอง

นายสราวุธ ระบุว่าหลังจากมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 และ 20 พ.ย. 61 ที่ต้องการแก้ไขปัญหาให้กับผู้เดือดร้อนภายในตลาดนัดจตุจักร ได้มีการโอนความรับผิดชอบการบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรจาก รฟท.ให้อยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. และมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรร่วมกัน โดยให้ กทม.เช่าที่ดินเพื่อบริหารจัดการทั้งหมด 68 ไร่ 1 งาน 88 ตารางวา คิดอัตราค่าเช่าปีละ 169 ล้านบาท ระยะเวลาเช่าไม่เกินปี 71
เช็กพื้นที่ 35 จว.เฝ้าระวังน้ำท่วม-น้ำป่าไหลหลาก 9 ลำน้ำเสี่ยงล้นตลิ่ง!
5 แหล่งอาหารช่วยบำรุงความจำ ชะลอความเสื่อมของสมอง
โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม 1.22 แสนล้าน รองรับ "ดิจิทัลวอลเล็ต"

หลังจากนั้นในกระบวนการทำสัญญาเช่า กทม. ไม่ยอมลงนามในสัญญาเช่า เนื่องจากต้องการใช้ร่างสัญญาที่ กทม.เป็นผู้จัดทำ ซึ่งได้มีการเจรจาและปรับแก้เงื่อนไขหลายครั้ง จนมีการฟ้องร้องคดีทางแพ่ง และศาลมีคำพิพากษาให้ กทม.ชำระค่าใช้ประโยชน์ นับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 61 จนถึงวันฟ้อง 27 มิ.ย. 65 จำนวน 605 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย และยังต้องชำระค่าใช้ประโยชน์ในอัตราเดือนละ 14 ล้านบาท นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 65 ไปจนกว่าจะทำสัญญาเช่ากับการรถไฟ แต่จนถึงปัจจุบัน กทม.ยังไม่ได้มีการชำระเงินตามที่ศาลมีคำพิพากษา
จึงมีข้อเรียกร้องให้ กทม.เร่งชำระค่าใช้จ่ายจากการรับมอบที่ดินตลาดนัดจตุจักรจาก รฟท. ให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการบริหารตลาดนัดจตุจักรและคำพิพากษา พร้อมขอให้ กทม.ถอนอุทธรณ์คดีจากศาลแพ่งและการดำเนินการร่วมกับ รฟท. ในการเจรจากันด้วยหลักธรรมาภิบาล เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของหน่วยงานรัฐที่ฟ้องร้องกันเอง ซึ่งในข้อเท็จจริงสาธารณะชนรับรู้ว่ามีการบริหารจัดการพื้นที่ตลาดนัดและเรียกเก็บค่าเช่าจากผู้เช่า แต่ กทม.ไม่นำเงินจ่ายให้กับ รฟท. ซึ่งการอุทธรณ์คดีถือเป็นการประวิงเวลาและไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้
ต้องการให้ กทม.เร่งจ่ายเงิน เพื่อให้ รฟท.นำเงินส่วนนี้ไปชดเชยการขาดทุน และนำไปพัฒนาบริการให้ประชาชน แต่หากยังไม่ได้รับการตอบรับจาก กทม. สหภาพแรงงานรถไฟจะกลับมาทวงถามอีกครั้ง และหากยังไม่ได้ข้อสรุปอีกจะเสนอให้ รฟท.นำการบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรกลับมาบริหารจัดการเอง.....นายสราวุธกล่าว