อุทกภัยฉุดเชื่อมั่นอุตลด แนะผุดระบบแจ้งเตือนเรียลไทม์
ส.อ.ท.เผยสถานการณ์อุทกภัยดึงดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ลดลงต่อเนื่อง เสนอรัฐพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติแบบเรียลไทม์
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.ย. 67 อยู่ที่ระดับ 87.1 ปรับตัวลดลงจาก 87.7 ในเดือน ส.ค. 67 จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง สร้างความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือนประชาชน พื้นที่การเกษตรและอุตสาหกรรม รวมถึงพื้นที่การท่องเที่ยว กระทบเศรษฐกิจในภาพรวมมูลค่าสูงถึง 30,000-50,000 ล้านบาท
ขณะที่กำลังซื้อในประเทศยังอ่อนแอจากปัญหาหนี้ครัวเรือน ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย และการบริโภคสินค้าคงทนยังคงชะลอตัวลง สะท้อนจากยอดขายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในประเทศช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค. 67) หดตัวร้อยละ 24 และร้อยละ 11 YoY ตามลำดับ
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ฉุดเศรษฐกิจไทย อาทิ ปัญหาหนี้ครัวเรือนและสถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้การเบิกจ่ายงบลงทุนในโครงการของภาครัฐล่าช้ากระทบยอดขายสินค้าวัสดุก่อสร้างชะลอลง ปัญหาการทุ่มตลาดของสินค้าจีน กระทบภาคการผลิตของไทย ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญการแข่งขันที่สูง รวมถึงการแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาทกดดันภาคการส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก และกระทบขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย
ตรวจหวยงวดนี้ - ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ลอตเตอรี่ 16/10/67
ตรวจผลรางวัลสลากออมสินพิเศษ 1 ปี งวดวันที่ 16 ตุลาคม 2567
“ธเนตร วงษา” ยันรู้จัก “บอสพอล” 7 ปี แต่ไม่เกี่ยวดิไอคอน ให้กำลังใจน้องพอลสู้ๆ
อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยบวกจากการแจกเงินสด 10,000 บาทให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ 14.5 ล้านราย ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยตั้งแต่ 1 ม.ค.-29 ก.ย. 67 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมทั้งสิ้น 26 ล้านคน +30% สร้างรายได้ 1.2 ล้านล้านบาท ภาคการส่งออกปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามการขยายตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก และอัตราค่าระวางเรือปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะเส้นทางสหรัฐฯ และยุโรป ส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่งลดลง
ปัจจัยที่ผู้ประกอบการกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจในประเทศ อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 48.1 ตามลำดับ
ปัจจัยที่ผู้ประกอบการกังวลลดลง ได้แก่ เศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน สถานการณ์การเมืองในประเทศ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า
อยู่ที่ระดับ 96.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 95.2 ในเดือน ส.ค. 67 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ มาตรการเสริมสภาพคล่องเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย มาตรการ 10,000 บาท เฟส 2 และการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวในช่วง High Season รวมถึงภาคการท่องเที่ยว การส่งออก ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีจากความต้องการสินค้าในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่
แต่ยังมีปัจจัยที่ผู้ประกอบการยังคงห่วงกังวล อาทิ สภาพอากาศที่แปรปรวนจากปรากฎการณ์ลานีญา ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมรุนแรงกระทบวัตถุดิบภาคเกษตร ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะในตะวันออกกลางที่ยังยืดเยื้อเสี่ยงต่อภาคการส่งออก และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจส่งผลต่อนโยบายการค้าระหว่างประเทศและเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 สะท้อนว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ในระดับที่ไม่ดี
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ
- ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและลดความผันผวน รวมถึงพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
- ขอให้ภาครัฐพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติที่มีความแม่นยำถูกต้อง และสามารถแจ้งเตือนภัยแบบเรียลไทม์ผ่านโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเร่งแก้ไขปัญหาการทำเกษตรในพื้นที่ป่า เพื่อรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำป้องกันปัญหาน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม
- เสนอให้ภาครัฐพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2567 อาทิ มาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ เป็นต้น