นโยบายภาษีรอบใหม่กับความโกลาหลของการค้าโลก : ใครได้ ใครเสีย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองนโยบายภาษีรอบใหม่ของ “ทรัมป์” ไทยได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลังไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 10 ของโลก แนะเตรียมรับมือ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่าหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งความชัดเจนต่อนโยบายการค้า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็เริ่มมีมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบาย America First ที่สหรัฐฯ จะนำผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นที่ตั้ง นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการและ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า นโยบายทรัมป์ 2.0 จะยังคงใช้ภาษีนำเข้าเป็นเครื่องมือเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสหรัฐฯ

ซึ่งเราได้เห็นนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ มีการใช้ภาษีนำเข้าเป็นเครื่องมือในการเจรจา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านการเมืองและความมั่นคง ในประเด็นเรื่องคนลักลอบเข้าเมืองและปัญหายาเสพติด รวมถึงความต้องการขยายดินแดนและอิทธิพลไปนอกสหรัฐฯ อาทิ คลองปานามา กรีนแลนด์ และแคนาดา
ในแนวคิดของรัฐบาลทรัมป์ วาระแรกได้มีการขึ้นภาษีนำเข้า โดยเฉพาะจากจีน และเปลี่ยนสนธิสัญญาความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA มาเป็นข้อตกลงสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา หรือ USMCA โดยสงครามการค้ามีผลลบกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ น้อยกว่าประเทศอื่นที่ค้าขายกับสหรัฐฯ

สะท้อนจากแนวคิดที่นาย Robert Lightizer ซึ่งเป็นมันสมองของการวางกลยุทธ์สงครามการค้ารอบแรก ได้กล่าวว่าสหรัฐฯ ควรมองจีนเป็นคู่แข่งอันดับหนึ่ง ทั้งด้านการทหาร เศรษฐกิจ และความมั่นคง เนื่องจากการที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนมาก ๆ ไม่เป็นผลดีกับสหรัฐฯ ในระยะยาว เพราะฉะนั้นนโยบายต่าง ๆ จึงต้องการบรรลุเป้าการลดการพึ่งพาเศรษฐกิจจีน และลดการขาดดุลการค้า

นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังต้องการให้มีการสร้างงานโดยเฉพาะในภาคการผลิต อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ และยังมีแนวคิดที่ว่าแม้แต่ประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ก็ได้มีการเอาเปรียบทางการค้ากับสหรัฐฯ มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเม็กซิโก แคนาดา สหภาพยุโรป และประเทศอื่น ๆ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าประเทศไทยน่าจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการที่ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 10 ของโลก ดังนั้นกลยุทธ์ของไทยในการรับมือคงต้องเปิดตลาดให้กับธุรกิจสหรัฐฯ มากขึ้น หรือเพิ่มการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ เพื่อลดการได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ นอกจากนี้หากผลกระทบจากสงครามการค้าขยายวงกว้าง เฟดอาจไม่สามารถลดดอกเบี้ยเพิ่มจากที่คาดว่าจะลดลง 2 ครั้งในปีนี้
นโยบายทรัมป์ 2.0 จะเน้นการสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและการทหารให้กับสหรัฐฯ เป็นหลัก เราจึงเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่สหรัฐฯ จะใช้ความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจของตนเองเป็นเครื่องมือต่อรองให้สหรัฐฯ ได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์อย่างมากที่สุด