เปิดตัวเลขเศรษฐกิจ ม.ค.2568 ท่องเที่ยว-ส่งออก ยังโดดเด่น
คลังเปิด เปิดตัวเลขเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว-ส่งออก-การลงทุน ม.ค.2568 ท่องเที่ยว-ส่งออก ยังโดดเด่น แต่การภาคการผลิตยังติดลบ และต้องติดตามอย่างใกล้ชิด รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผย ภาวะเศรษฐกิจประจำเดือนมกราคม 2568 เปิดเผยว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2568 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 ภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัว แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์ของการผลิตภาคอุตสาหกรรม และนโยบายเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป

หากไปดูที่เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนมกราคม 2568 เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนมกราคม
ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในเดือนมกราคม 2568 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 59.0 จากระดับ 57.9 ในเดือนก่อน เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ รวมถึงการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่ปริมาณรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ในเดือนมกราคม 2568 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ -16.3 การลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณชะลอตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน
การลงทุนภาคเอกชน
การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณรถยนต์เชิงพาณิชย์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนมกราคม 2568 ลดลงจาก ช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -14.8 สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ในเดือนมกราคม 2568 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -2.4
มูลค่าการส่งออกสินค้า
มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนมกราคม 2568 อยู่ที่ 25,277.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่ร้อยละ 13.6 แม้ว่า การส่งออกข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ปรับตัวลดลง
ตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นในตลาดอินเดีย สหรัฐฯ และจีน ส่วนตลาดทวีปออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง ลดลง
การท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน โดยเฉพาะบริการด้านการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน ในเดือนมกราคม 2568 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน 3.70 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 22.2 โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากจีน มาเลเซีย รัสเซีย เกาหลีใต้ และอินเดีย
ภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนมกราคม 2568 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 3.8 เพิ่มขึ้นในหมวดพืชผลสำคัญ เช่น ข้าว และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น อย่างไรก็ดี ผลผลิตมันสำปะหลัง และข้าวโพด ลดลงจากเดือนก่อน
สำหรับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนมกราคม 2568 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 91.6 จากระดับ 90.1 ในเดือนก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกขยายตัวจากอุปสงค์ฅ.ของประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป ประกอบกับภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวต่อเนื่อง
สถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังคงขยายตัว โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากภาคการผลิตและบริการ ขณะที่แนวโน้มเงินเฟ้อในหลายประเทศที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกับเป้าหมายของธนาคารกลาง ประกอบกับการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในหลายประเทศ จะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป สำหรับสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคงต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ภายใต้สถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี: สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 2568 อยู่ที่ร้อยละ 1.32 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.83
ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2567 อยู่ที่ร้อยละ 63.9 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง และทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2568 ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 242.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ