หอการค้าไทย ย้ำรัฐตั้ง Special Team รับมือเจรจาภาษีทรัมป์ 2.0
หอการค้าไทย ย้ำรัฐตั้ง Special Team รับมือเจรจาภาษีทรัมป์ 2.0 พร้อมตั้งรับสินค้าไร้คุณภาพทะลักเข้าไทย
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าได้มีการหารือและส่งสัญญาณไปยังรัฐบาลถึงการเตรียมความพร้อมมาตรการในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ ขณะเดียวกัน นโยบายการค้าเชิงรุกของสหรัฐฯ และมาตรการกีดกันสินค้านำเข้าของสหรัฐจะทำให้หลายประเทศต้องหันมาพึ่งพาตลาดใหม่โดยเฉพาะอาเซียนและไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ สินค้าอุตสาหกรรม สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเกษตรและอาหาร เป็นต้น

ดังนั้น เพื่อป้องกันผลกระทบดังกล่าว หอการค้าฯ จึงเสนอให้รัฐบาลดำเนินมาตรการควบคุมและกวดขันการนำเข้าสินค้าอย่างเข้มงวด ในส่วนของสินค้าที่ทะลักเข้ามาแล้ว รัฐบาลต้องบังคับ ใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการกวดขันเรื่องการลักลอบนำเข้าสินค้าโดยไม่เสียภาษี การตรวจสอบการใช้ราคาต่ำผิดปกติเพื่อทำลายการแข่งขัน รวมถึงการป้องกันการทุ่มตลาด (Dumping) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจภายในประเทศอย่างรุนแรง
นอกจากนี้ ควรพิจารณาการออกกฎหมายหรือมาตรการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม โดยอาจกำหนดมาตรการปกป้องธุรกิจภายในประเทศจากการทุ่มตลาดของสินค้าต่างชาติ และทบทวนกฎหมายด้านการแข่งขันทางการค้าให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ด้าน ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 กล่าวว่า หอการค้าไทยย้ำให้รัฐบาลจัดตั้ง “ทีมพิเศษ” (Special Team) ที่มีอำนาจสั่งการกระทรวงสำคัญ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงดิจิทัลฯ และกระทรวงแรงงาน ร่วมกับภาคเอกชน
โดยเฉพาะ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์เจรจาเชิงรุกกับสหรัฐฯ การทำงานต้องครอบคลุมทั้งการป้องกันมาตรการภาษีที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการใช้โอกาสจาก มาตรการภาษีของทรัมป์ (Trump Tariffs) ซึ่งถือเป็นนโยบายกาลักน้ำ (Zero Sum Game) ที่ประเทศหนึ่งได้ อีกประเทศหนึ่งต้องเสีย ดังนั้น ไทยต้องวางกลยุทธ์ให้เป็นฝ่ายได้รับประโยชน์สูงสุดจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการค้าโลก ซึ่งอาจส่งผลบวกต่อ GDP ไทย 0.5% ถึง 1.0%
ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ ประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หอการค้าไทย กล่าวว่า หนึ่งในแนวทางที่สำคัญในการลดแรงกดดันทางการค้าจากสหรัฐฯ คือ การเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารที่จำเป็นจากสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยให้ไทยมีจุดยืนที่ดีขึ้นในการเจรจาต่อรอง หากพิจารณามูลค่าการค้าเฉพาะสินค้าหมวดสินค้าเกษตรกรรม (กสิกรรม,ปศุสัตว์,ประมง) และสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร พบว่า ไทยเกินดุลสหรัฐฯ เพียง 2,665 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 7.5% โดยหอการค้าไทยเสนอให้รัฐบาลพิจารณาการนำเข้าสินค้ากลุ่มต่าง ๆ ที่ไทยยังขาดแคลน และการนำเข้าไม่กระทบต่อผู้ค้าและเกษตรกรไทย เช่น
1. พืชอาหารสัตว์ (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลือง) ที่ผ่านมาไทยผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่เพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และปัจจุบันยังต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและหมอกควัน การเปิดโควตานำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐฯ ในช่วงนอกฤดูเก็บเกี่ยวของไทย จะช่วยให้ไทยมีทางเลือกด้านซัพพลายที่มากขึ้น
2. สินค้าอาหารทะเล เช่น ปลาแซลมอนแช่แข็ง หอยเชลล์ และปลาทูน่าจากเรือชักธงสหรัฐฯ ซึ่งไทยสามารถนำเข้าวัตถุดิบเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปภายในประเทศ