วัยสร้างครอบครัวกลุ่มแบกหนี้มากที่สุด วัยเกษียณเป็นหนี้เกือบตลอดชีวิต
หนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 3 ของปี 2567 ยังคงอยู่ในระดับสูงราว 16.3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89% ของจีดีพี ซึ่งหนี้ครัวเรือนไทยทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเริ่มส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นวงกว้าง
ข้อมูลจาก ttb analytics ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลบัญชีลูกหนี้ที่ไม่สามารถระบุตัวตน (Anonymous Account) มากกว่า 84 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้คงค้างกว่า 13.6 ล้านล้านบาท จากฐานข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) โดยพบประเด็นที่น่าห่วง คือ
เกือบ 40% ของคนไทยเป็นหนี้ในระบบ โดยมีหนี้เฉลี่ยต่อคนเกิน 1 แสนบาท
ภาพรวมคุณภาพหนี้ครัวเรือนตามฐานข้อมูล NCB พบว่า สัดส่วนประชากรไทยที่มีหนี้ในระบบเพิ่มขึ้น จาก 31% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในปี 2561 เป็น 38% ในปี 2567

สะท้อนถึงจากการเข้าถึงสินเชื่อที่ง่ายขึ้น ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการทางการเงินเป็นพิเศษในช่วงวิกฤตโควิด-19 ยิ่งกว่านั้น สัดส่วนคนไทยที่มีหนี้เสียมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่ผ่านพ้นช่วงโควิด-19 โดยพบว่า สัดส่วนคนไทยที่เป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นจาก 17% ในปี 2561 เป็น 22% ในปี 2567 ขณะที่ยอดหนี้สินเฉลี่ย (Median) ต่อผู้กู้ตลอดทุกช่วงอายุลดลงเล็กน้อยจาก 1.48 แสนบาท เป็น 1.18 แสนบาทต่อคน
ttb analytics
วัยสร้างครอบครัวเป็นกลุ่มที่แบกหนี้มากที่สุด

วัยสร้างครอบครัวเป็นกลุ่มที่แบกหนี้มากที่สุด กลุ่ม "ชนกำแพงรายจ่าย"
โดยทั่วไปเป็นกลุ่มนี้มีความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อและการชำระหนี้ได้ดีกว่า 2 กลุ่มแรก แต่ภาระหนี้ที่ต้องแบกรับสูงตั้งแต่วัยเริ่มทำงาน รวมถึงยังมีภาระรุมเร้ารอบด้านทั้งเพื่อการใช้จ่ายส่วนตัว สร้างครอบครัว ชำระหนี้เดิมที่มีอยู่ ตลอดจนรับผิดชอบพ่อแม่ รวมถึงดูแลลูกไปพร้อมกัน จึงพบเห็นบางกลุ่มมีปัญหาสภาพคล่องที่น้อยลง ซึ่งมักจะเห็นกลุ่มนี้มีแนวโน้มก่อหนี้ในระดับสูงมากที่สุด เรียกได้ว่าเป็นกลุ่ม “ชนกำแพงรายจ่าย” อย่างแท้จริง
โดยวัยสร้างครอบครัวถือเป็นกลุ่มที่ก่อหนี้มากที่สุด โดยคิดเป็น 62% ของประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 35-50 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นการก่อหนี้ส่วนบุคคล 43% รองลงมาคือหนี้เช่าซื้อรถและหนี้บัตรเครดิต 23% และ 17% ตามลำดับ นอกจากนี้ กลุ่มวัยสร้างครอบครัวมักมีหนี้บ้านเพิ่มเติมขึ้นมาเพื่อสร้างหลักปักฐาน ซึ่งหนี้บ้านเป็นหนี้ที่กินระยะเวลาผ่อนค่อนข้างนาน จึงทำให้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้องแบกรับภาระหนี้เฉลี่ยสูงถึง 1.54 แสนบาทต่อคน
ttb analytics
วัย First Jobber ส่วนใหญ่เริ่มต้นจากการเป็นหนี้มอเตอร์ไซค์และหนี้ส่วนบุคคล

วัย First Jobber เริ่มต้นจากหนี้มอเตอร์ไซค์-หนี้ส่วนบุคคล "ชนกำแพงรายได้"
เป็นช่วงที่คนเริ่มมีรายได้หลังเรียนจบ แต่รายได้ยังไม่สูงนัก แต่กลับต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นตาม เรียกได้ว่ากลุ่มนี้ “ชนกำแพงรายได้” ซึ่งแม้ว่ากลุ่มวัยเริ่มทำงานจะเป็นกลุ่มที่ยังมีศักยภาพในการหารายได้ในอนาคต แต่ด้วยไลฟ์สไตล์การชีวิตของกลุ่มนี้ซึ่งในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Gen Z (อายุระหว่าง 20-30 ปี) จึงมักเห็นพฤติกรรมการก่อหนี้โดยขาดวินัยทางการเงินที่ดี ทำให้รายได้ที่เพิ่มขึ้นน้อยอาจไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
ปัจจุบันอายุเฉลี่ยของลูกหนี้มีแนวโน้มลดลง หรือเรียกได้ว่าเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยกลุ่มคนที่เพิ่งเข้าสู่วัยทำงานหรือ First Jobber (อายุ 25-29 ปี) ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4.6 ล้านคน แต่กว่า 57% ของคนกลุ่มนี้เริ่มเข้าสู่วงจรหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้ในช่วงอายุระหว่าง 20-22 ปี ที่มักเริ่มต้นจากการก่อหนี้มอเตอร์ไซค์และหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลเป็นอันดับต้น ๆ โดยคิดเป็นสัดส่วนบัญชีมากถึง 41% และ 43% ของจำนวนประชากรในช่วงอายุดังกล่าว ยิ่งกว่านั้น บัญชีลูกหนี้ที่มีหนี้มอเตอร์ไซค์ในกลุ่มอายุนี้กว่า 20-30% ของทั้งหมดเป็นหนี้เสีย
ลูกหนี้มักก่อหนี้ส่วนบุคคลไปตลอดชีวิต "ชนกำแพงอายุ"
วัยเกษียณ จะเป็นช่วงวัยที่รายรับน้อย แต่รายจ่ายยังมีอยู่ จึงต้องหันมาพึ่งพาเงินออม รวมถึงสวัสดิการอื่น ๆ หลังเกษียณ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น กลุ่มที่ ชนกำแพงอายุ เนื่องจากความสามารถในการหารายได้ลดลงมากเมื่อแก่ตัวลง แต่กลับยังต้องแบกภาระหนี้เรื้อรังที่สะสมมาตั้งแต่วัยทำงาน
ในระยะหลังพบว่าพฤติกรรมของลูกหนี้หันไปก่อหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อพยุงการบริโภคมากขึ้น โดยหากพิจารณาสัดส่วนจำนวนบัญชีสินเชื่อต่อจำนวนบัญชีทั้งหมดของลูกหนี้ตั้งแต่อายุ 20-80 ปี พบว่า ลูกหนี้ตลอดทุกช่วงอายุมีสัดส่วนบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคลมากกว่า 40% ของบัญชีทั้งหมด
นอกจากนี้ ยังพบว่า สัดส่วนจำนวนบัญชีหนี้ส่วนบุคคลทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลในกลุ่มคนที่ยังไม่มีภาระสินเชื่อบ้านหรือรถยนต์สูงถึง 12.1 ล้านบัญชี ขณะที่จำนวนบัญชีและภาระหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลที่ผูกกับสินเชื่อบ้านและ/หรือรถยนต์ มีสัดส่วน 28.2% ของบัญชี