“สี จิ้นผิง” เดินสายกระชับสัมพันธ์ 3 ชาติอาเซียน แผนต้านอำนาจทรัมป์?
วิเคราะห์ท่าทีผู้นำจีน “สี จิ้นผิง“ เดินทางเยือน 3 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน มีความสำคัญอย่างไรท่ามกลางสงครามการค้ากับสหรัฐฯ
ทั่วโลกจับตาความเคลื่อนไหวของประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง ซึ่งเดินทางเยือนประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงวันที่ 14-18 เม.ย. เป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกในปีนี้ของผู้นำจีน โดยเยือนเวียดนามวันที่ 14 เม.ย. จากนั้นไปมาเลเซียวันที่ 15 เม.ย. และจบทริปด้วยการไปเยือนกัมพูชาในวันที่ 17 เม.ย.
เดิมทีการเดินทางครั้งนี้เป็นแผนที่วางไว้นานแล้ว แต่ประจวบเหมาะเกิดขึ้นในช่วงที่การค้าโลกกำลังตึงเครียดจากมาตรการภาษีตอบโต้ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ พอดี ทำให้ถูกจับตามองมากขึ้นเป็นพิเศษ

หลายฝ่ายคาดว่า การเยือน 3 ชาติอาเซียนของผู้นำจีนจะมีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือเป็นหลัก รวมถึงอาจต้องการพรีเซนต์ตัวเองในฐานะพันธมิตรที่น่าเชื่อถือกว่าสหรัฐฯ อย่างน้อยก็ในแง่การค้า
ในปี 2024 จีนเป็นผู้ลงทุนต่างชาติรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเวียดนาม รองจากสิงคโปร์และเกาหลีใต้ เป็นนักลงทุนรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ในมาเลเซีย และเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา
จีนกำลังพยายามแสดงตนเป็นพันธมิตรที่น่าเชื่อถือสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งความวิตกกังวลกำลังเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับท่าทีของสหรัฐฯ เนื่องจากหลายประเทศในภูมิภาคนี้ต้องเผชิญกับภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ในอัตราที่หนักหน่วง
โดยกัมพูชาเจอภาษีตอบโต้จากสหรัฐฯ ในอัตราสูงถึง 49% ส่วนเวียดนามโดนไป 46% และมาเลเซียเผชิญภาษีสหรัฐฯ ที่ 24% โดยขณะนี้ถูกระงับชั่วคราวเป็นเวลา 90 วันเพื่อให้เวลาเจรจา แต่อัตราภาษีพื้นฐาน 10% สำหรับสินค้าจากคู่ค้าทั้งหมดของสหรัฐฯ ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่
จนถึงขณะนี้ หลายประเทศในอาเซียนได้เริ่มเคลื่อนไหวเพื่อหาทางลดตัวเลขภาษีตอบโต้จากสหรัฐฯ ให้ได้มากที่สุด โดยเวียดนามได้เสนอที่จะยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ทั้งหมด ส่วนไทยและอินโดนีเซียกล่าวว่าจะส่งคณะผู้แทนระดับสูงไปเจรจาการค้าที่สหรัฐฯ
กระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า จีนและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็น “เพื่อนบ้านที่ดี มิตรที่ดี และพันธมิตรที่มีชะตากรรมร่วมกัน”
โทมัส แดเนียล นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันยุทธศาสตร์และการศึกษาระหว่างประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า สี จิ้นผิง จะพยายามเสริมสร้างอิทธิพลของจีนใน 3 ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักจากภาษีของทรัมป์
“การตอบสนองของจีนต่อภาษี อาจช่วยทำให้สถานการณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดีขึ้นหรือแย่ลงก็ได้ แต่การแสดงน้ำใจอันจริงใจจะส่งผลดีต่อจีนในระยะยาว" เขากล่าว
แดเนียลเสริมว่า การเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ สี จิ้นผิง ในครั้งนี้ เป็นโอกาสสำหรับจีน “หากรู้วิธีใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้”
จีนมีความสัมพันธ์ทางการค้าที่แข็งแกร่งกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีข้อพิพาทเรื่องดินแดนกับประเทศอาเซียนหลายประเทศในประเด็นการอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ ทั้งมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และบรูไน
ลงนามร่วมมือเวียดนามหลายสิบฉบับ
ในการเยือนเวียดนาม ประธานาธิบดีจีนเรียกร้องให้เวียดนามกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้าและห่วงโซ่อุปทานให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเข้าร่วมพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือหลายสิบฉบับระหว่างสองประเทศ
สี จิ้นผิง กล่าวว่า “ทั้งสองฝ่ายควรเสริมสร้างความร่วมมือด้านการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน” โดยเน้นย้ำความสำคัญความร่วมมือในด้านปัญญาประดิษฐ์และเศรษฐกิจสีเขียว
สื่อของรัฐบาลจีนและเวียดนามรายงานว่ามีการลงนามในข้อตกลง 45 ฉบับ ซึ่งเนื้อหาของข้อตกลงเหล่านี้ไม่ได้รับการเปิดเผย และไม่ชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับข้อผูกพันทางการเงินหรือข้อผูกมัดใด ๆ หรือไม่
แต่เบื้องต้นมีรายงานว่า ข้อตกลงเหล่านี้มีเรื่องของการปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานและความร่วมมือด้านทางรถไฟอยู่ด้วย
เยือนมาเลเซียครั้งที่ 2
ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง เดินทางถึงกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 15 เม.ย. การเยือนมาเลเซียครั้งนี้ถือเป็นการเยือนมาเลเซียครั้งที่ 2 ของเขานับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งผู้นำจีนในปี 2013
สี จิ้นผิง กล่าวว่า “จากการเยือนครั้งนี้ ผมหวังว่าจะเสริมสร้างมิตรภาพแบบดั้งเดิมระหว่างเราให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพิ่มความไว้วางใจทางการเมืองซึ่งกันและกัน ส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาให้ทันสมัย ส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างอารยธรรม และก้าวไปสู่ระดับใหม่ในการพัฒนาชุมชนจีน-มาเลเซียที่มีอนาคตร่วมกัน”
ผู้นำจีนยังให้คำมั่นว่า จะใช้ประโยชน์จากโมเมนตัมของความร่วมมือในระดับพหุภาคีระหว่างจีนและมาเลเซีย “เราต้องยึดมั่นในระบบการค้าพหุภาคี รักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมระดับโลก และรักษาสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่เปิดกว้างและร่วมมือกัน”
กัมพูชา พื้นที่ปลอดภัยของจีน
จุดแวะสุดท้ายของ สี จิ้น ผิง คือกัมพูชา ซึ่งถือเป็น “พื้นที่ปลอดภัยที่สุด” ของจีน เนื่องจากรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต ซึ่งสืบทอดจุดยืนสนับสนุนจีนมาจากบิดาของเขา สมเด็จ ฮุน เซน พึ่งพาการลงทุนจากจีนอย่างมากสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ รวมถึงสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ในกรุงพนมเปญ ซึ่งคาดว่าจะเปิดทำการในเดือน มิ.ย. และโครงการคลองฟูนันที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์
เชง กิมลอง ประธานสถาบันวิสัยทัศน์เอเชียในกรุงพนมเปญ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงสหรัฐฯ และจีน ความกังวลสูงสุดของกัมพูชาคือ การแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างมหาอำนาจและผลพวงจากการตอบโต้
“กัมพูชาและจีนเป็นเศรษฐกิจที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด หากสหรัฐฯ ยังคงมองว่าจีนและคู่ค้าอื่น ๆ เป็นคู่แข่ง ก็อาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อภาคการส่งออกของกัมพูชา รวมถึงการผลิตด้วย” กิมลองบอก
ในฐานะนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา จีนน่าจะสามารถรักษาความสัมพันธ์กับกัมพูชาให้ยังคงแน่นแฟ้นได้ แม้จะมีภัยคุกคามจากรัฐบาลทรัมป์ของสหรัฐฯ ก็ตาม
ขณะเดียวกัน การตัดความช่วยเหลือหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐฯ (USAID) ของรัฐบาลทรัมป์ ยังเป็นการเปิดทางให้จีน ซึ่งเดิมสนับสนุนโครงการด้านการรู้หนังสือและโภชนาการสำหรับเด็กอยู่แล้ว สามารถเข้ามามีบทบาทและเพิ่มอิทธิพลได้
ในด้านการค้า จีนอาจเสนอช่องทางให้ชาติอาเซียนเข้าถึงตลาดจีนได้มากขึ้น แม้ว่าจะยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการลดหรือขจัดอุปสรรคทางการค้าใดได้บ้างหรือไม่ก็ตาม
เรียบเรียงจาก Bloomberg / CNBC / SCMP / Straits Times / Reuters