เศรษฐกิจไทย ไตรมาส 1 ขยายตัว 3.1% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า
สภาพัฒน์ เปิดเผยถึงตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2568 ขยายตัว 3.1% ชะลอลงจาก 3.3% ในไตรมาสที่ 4 ของ 2567
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 3.1 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.3 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2567
ด้านการใช้จ่าย การส่งออกสินค้าและการลงทุนภาครัฐขยายตัวในเกณฑ์สูง การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลชะลอตัว ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลงต่อเนื่อง
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 2.6 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวในทุกหมวดสินค้า

โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัวร้อยละ 1.9 ชะลอลงจากร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการใช้จ่ายกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญ การใช้จ่ายหมวดบริการขยายตัวร้อยละ 4.5 ชะลอลงจากร้อยละ 6.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของการใช้จ่ายกลุ่มโรงแรมและภัตตาคาร และกลุ่มบริการด้านสุขภาพ ส่วนการใช้จ่ายหมวดสินค้ากึ่งคงทนขยายตัวร้อยละ 0.9 ชะลอลงจากร้อยละ 3.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของการใช้จ่ายกลุ่มเสื้อผ้าและรองเท้า และการลดลงของการใช้จ่ายเพื่อซื้อเครื่องเรือนและเครื่องตกแต่ง ขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนลดลงร้อยละ 1.4 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 9.5 ในไตรมาสก่อนหน้า
โดยการใช้จ่ายเพื่อซื้อยานพาหนะลดลงร้อยละ 2.0 เทียบกับการลดลงร้อยละ 21.2 ในไตรมาสก่อนหน้า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 51.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 50.5 ในไตรมาสก่อนหน้า การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ชะลอลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยค่าซื้อสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ 9.8 รายจ่ายการโอนเพื่อสวัสดิการสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาดขยายตัวร้อยละ 6.0 และค่าตอบแทนแรงงานขยายตัวร้อยละ 0.9
สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 23.6 (ต่ำกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 36.7 ในไตรมาสก่อนหน้า แต่สูงกว่าร้อยละ 18.9 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน)
การลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 4.7 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 5.1 ในไตรมาสก่อนหน้า
โดยการลงทุนภาครัฐ ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ร้อยละ 26.3 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 39.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของการลงทุนรัฐบาล ในขณะที่การลงทุนรัฐวิสาหกิจลดลง สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 12.8 (ต่ำกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 13.4 ในไตรมาสก่อนหน้า แต่สูงกว่าร้อยละ 5.1 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน)
ส่วนการลงทุนภาคเอกชน ลดลงร้อยละ 0.9 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 2.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรเครื่องมือลดลงร้อยละ 0.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างลดลงร้อยละ 3.8 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 3.9 ในไตรมาสก่อนหน้า
ด้านการค้าระหว่างประเทศ การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 80,444 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 15.0 สูงสุดในรอบ 13 ไตรมาส เร่งขึ้นจากร้อยละ 10.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยดัชนีปริมาณการส่งออก ขยายตัวร้อยละ 14.0 เร่งขึ้นจากร้อยละ 9.3 ในไตรมาสก่อน ตามการขยายตัวในเกณฑ์ดีของปริมาณการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ด้านดัชนีราคาสินค้าส่งออก เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ต่อเนื่องจากร้อยละ 1.2 ในไตรมาสก่อน
กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น อาทิ ยางพารา (ร้อยละ 32.4) คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 130.8) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 50.4) อุปกรณ์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 28.6) แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน (ร้อยละ 24.7) และอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม (ร้อยละ 24.6) เป็นต้น กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง อาทิ ข้าว (ลดลงร้อยละ 30.4) ทุเรียน (ลดลงร้อยละ 0.5) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 6.1) รถกระบะและรถบรรทุก (ลดลงร้อยละ 3.2) และอาหาร (ลดลงร้อยละ 2.1) เป็นต้น
การส่งออกสินค้าไปตลาดส่งออกหลักส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ และจีน อาเซียน (9) และสหภาพยุโรป (27) ไม่รวม UK
ขณะที่การส่งออกสินค้าไปยังตลาดออสเตรเลีย และฮ่องกง ลดลงต่อเนื่อง ส่วนการนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 72,269 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 ชะลอลงจากร้อยละ 10.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 ขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 8.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (276.4 พันล้านบาท) สูงกว่าการเกินดุล 5.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (182.3 พันล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า

ด้านการผลิต
สาขาเกษตรกรรม สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และสาขาการขายส่งขายปลีกฯ ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาก่อสร้าง และสาขาขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าชะลอตัวสาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง ขยายตัวร้อยละ 5.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.1 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากสภาพอากาศและปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวยต่อการขยายตัวของผลผลิต ส่งผลให้หมวดพืชผลสำคัญกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 8 ไตรมาส ส่วนหมวดปศุสัตว์และหมวดประมงขยายตัวต่อเนื่อง การผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่
(1) ข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.6
(2) กลุ่มไม้ผล เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5
(3) อ้อย เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0
(4) ยางพารา เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5
(5) ไก่เนื้อ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม การผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ บางรายการปรับตัวลดลง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน (ลดลงร้อยละ 9.6) มันสำปะหลัง (ลดลงร้อยละ 3.3) และสุกร (ลดลงร้อยละ 1.7) ในขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ร้อยละ 1.0 ตามการลดลงของดัชนีราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ ได้แก่
(1) มันสำปะหลัง ลดลงร้อยละ 41.2
(2) ข้าวเปลือก ลดลงร้อยละ 8.2
(3) อ้อย ลดลงร้อยละ 21.8
(4) โคเนื้อ ลดลงร้อยละ 12.8
(5) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลดลงร้อยละ 2.4 ตามลำดับ การเพิ่มขึ้นของผลผลิตสินค้าเกษตรและดัชนีราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ หลายรายการ ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7 ร้อยละ 3.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.6 ในไตรมาสก่อนหน้า สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 0.6 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 0.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออกเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม กลุ่มการผลิตที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วงร้อยละ 30 – 60 และกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศปรับตัวลดลง
โดยกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนการส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 การผลิตสินค้าสำคัญ ๆ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ร้อยละ 23.3)
การผลิตสัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง (ร้อยละ 21.4) และการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ (ร้อยละ 4.5) ตามลำดับ ส่วนการผลิตสินค้าสำคัญ ๆ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ การผลิตเฟอร์นิเจอร์ (ลดลงร้อยละ 11.4) ในขณะที่กลุ่มการผลิตที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วงร้อยละ 30 - 60 ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 8 การผลิตสินค้าสำคัญ ๆ
ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ การผลิตยานยนต์ (ลดลงร้อยละ 12.0) การทอผ้า (ลดลงร้อยละ 20.5) และการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก (ลดลงร้อยละ 2.2) ตามลำดับ ส่วนการผลิตสินค้าสำคัญ ๆ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ การผลิตน้ำตาล (ร้อยละ 6.1) และกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 การผลิตสินค้าสำคัญ ๆ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 0.9) การผลิตกาแฟ ชา และสมุนไพรผงสำหรับชงเป็นเครื่องดื่ม (ลดลงร้อยละ 81.3) และการผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ น้ำแร่และน้ำดื่มบรรจุขวดประเภทอื่น ๆ (ลดลงร้อยละ 8.3) ตามลำดับ
ส่วนการผลิตสินค้าสำคัญ ๆ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ การผลิตพลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น (ร้อยละ 12.2) สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตในไตรมาสนี้เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 60.93 สูงกว่าร้อยละ 57.72 ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ต่ำกว่าร้อยละ 61.05 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ขยายตัวร้อยละ 7.2 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 10.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ
โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยมีจำนวน 9.549 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 93.76 ของช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ส่งผลให้มูลค่าบริการรับด้านการท่องเที่ยวในไตรมาสนี้อยู่ที่ 4.54 แสนล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 91.05 ของช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19) เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 ส่วนการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวไทย (ไทยเที่ยวไทย) จำนวน 69.751 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 สร้างรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทยอยู่ที่ 2.69 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 15.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้ในไตรมาสนี้มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว อยู่ที่ 7.23 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 สำหรับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 74.93 สูงกว่าร้อยละ 73.74 ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ต่ำกว่าร้อยละ 75.27 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.1 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวเร่งขึ้นของดัชนีรวมการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ โดยดัชนีการขายส่ง (ยกเว้นยานยนต์และจักรยานยนต์) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 8.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของหมวดการขายส่งของใช้ในครัวเรือน และหมวดการขายส่งเครื่องจักรอุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ ส่วนดัชนีการขายปลีก (ยกเว้นยานยนต์และจักรยานยนต์) เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 9.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของหมวดร้านขายปลีกในร้านค้าทั่วไป โดยเฉพาะการขายปลีกในร้านดิสเคาท์สโตร์/ซุปเปอร์เซ็นเตอร์/ไฮเปอร์มาร์เก็ต และหมวดร้านขายปลีกสินค้าประเภทอื่น ๆ เช่น
ร้านเครื่องประดับ ร้านเครื่องสำอาง และร้านเภสัชภัณฑ์และเวชภัณฑ์ เป็นต้น
ขณะที่ดัชนีการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ ลดลงร้อยละ 1.9 เทียบกับการลดลงร้อยละ 17.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงในหมวดการขายยานยนต์ และหมวดการขายชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมของยานยนต์ อย่างไรก็ตาม หมวดการบำรุงรักษาและการซ่อมยานยนต์ และหมวดการขายการบำรุงรักษาและการซ่อมจักรยานยนต์ชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมที่เกี่ยวเนื่อง ปรับตัวเพิ่มขึ้นสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 9.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของดัชนีบริการขนส่งทุกประเภท ประกอบด้วย
(1) บริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียง เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2
(2) บริการขนส่งทางอากาศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6
(3) บริการขนส่งทางน้ำ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1
สำหรับบริการสนับสนุนการขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 และบริการไปรษณีย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 5.1 ในไตรมาสก่อนหน้าสาขาการก่อสร้าง ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 16.2 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 18.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นในเกณฑ์สูงของการก่อสร้างภาครัฐ โดยเฉพาะการก่อสร้างของรัฐบาล ในขณะที่การก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจลดลงครั้งแรกในรอบ 13 ไตรมาส และการก่อสร้างภาคเอกชนลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ร้อยละ 3.8 เทียบกับการลดลงร้อยละ 3.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการปรับตัวลดลงของการก่อสร้างที่อยู่อาศัยทุกประเภท และการก่อสร้างอาคารที่มิใช่ที่อยู่อาศัยทุกประเภท (ยกเว้น การก่อสร้างอาคารโรงงานที่ยังขยายตัวร้อยละ 3.7)
เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.89 สูงกว่าร้อยละ 0.88 ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ต่ำกว่าร้อยละ 1.01 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.1 และร้อยละ 0.9 ตามลำดับ
ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 10.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (355.2 พันล้านบาท) เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ 245.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 มีมูลค่าทั้งสิ้น 12.08 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 64.4 ของ GDP