กังวล ! กระแสปิดด่านพรมแดนไทย-กัมพูชา หวั่นกระทบขาดแคลนแรงงาน
สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก หวั่น ! กระแสปิดด่านพรมแดนไทย-กัมพูชา กระทบขาดแคลนแรงงาน ช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต ขณะที่ สถานการณ์ส่งออกทุเรียนภาคตะวันออก ปี 68 คาด ลดลงเหลือ 8 แสนตัน
นายวสันต์ รื่นรมย์ นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก เปิดเผยถึงสถานการณ์การส่งออกผลไม้ไทย กรณีกระแสสั่งปิดด่านพรมแดนไทย-กัมพูชา ว่า เรื่องนี้ต้องยอมรับว่าสร้างความกังวลให้กับเกษตรกรชาวสวนผลไม้ในภาคตะวันออก โดยเฉพาะชาวสวนทุเรียน มังคุด เงาะ และลำไย ซึ่งการปลูกลำไย ส่วนใหญ่ปลูกที่จังหวัดจันทบุรี และสระแก้ว เมื่อมีการเก็บเกี่ยวผลผลิต มักใช้แรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะชาวกัมพูชาเป็นหลัก ดังนั้น หากเป็นช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิตและมีปัญหาในการปิดด่านพรมแดน เชื่อว่า จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทยอย่างแน่นอน

โดยการเพาะปลูกทุเรียนในภาคตะวันออก ในอีกไม่กี่ปีคาดว่า จะมีพื้นที่รวมกว่า 1 ล้านไร่ โดยจังหวัดจันทบุรีมีประมาณ 4 - 5 แสนไร่ จังหวัดระยอง 1-2 แสนไร่ จังหวัดตราดเกือบ 2 แสนไร่ แต่ยังไม่ใช่พื้นที่ที่ให้ผลผลิตทั้งหมด ส่วนการขยายพื้นที่การเพาะปลูกทุเรียน เริ่มลดน้อยลง อาจมาจากสาเหตุที่พื้นที่การปลูกทุเรียนถูกจับจองไปหมดแล้ว รวมถึงเงินที่จะเข้ามาลงทุนลดน้อยลง
ทั้งนี้ ตลอดฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลไม้ของภาคตะวันออกในแต่ละปี จะมีแรงเข้ามาในพื้นที่ทั้งจากภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่ต่ำกว่า 10,000 คน ส่วนหากเป็นแรงงานต่างด้าว แต่ละสวนคาดว่าจะใช้แรงงานไม่ต่ำกว่า 30 - 40 คน
ส่วนขณะนี้ มีความเคลื่อนไหวแรงงานชาวกัมพูชามีท่าทีเดินทางกลับประเทศหรือไม่นั้น นายกสมาคมชาวสวนผลไม้จังหวัดระยอง ระบุว่า จากการพูดคุยกับชาวสวนยังไม่พบเหตุการณ์ดังกล่าว แต่หากแรงงานชาวกัมพูชาเดินทางกลับ ก็น่าจะกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่และรายได้
อย่างก็ตาม สถานการณ์การส่งออกทุเรียนของภาคตะวันออกของปี 68 นี้ ไม่น่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากสภาพอากาศมีปริมาณฝนตกมากกว่าปีที่แล้ว ภาพรวมมีการประเมินผลผลิตไว้ที่ 1.07 ล้านตัน แต่ล่าสุดมีการปรับลดลงเหลือเพียง 8 แสนตัน ซึ่งลดลงประมาณ 3 แสนตัน
ขณะที่ สถานการณ์การส่งออกทุเรียนในปีนี้ มองว่าปริมาณการส่งออกในแต่ละวันไม่หวือหวาเท่าปีที่ผ่านมา ช่วงเดียวกันของปีที่แล้วส่งออกต่อวันหลัก 1,000 ตู้แต่ในปีนี้ยังไม่เห็นตัวเลขดังกล่าว ซึ่งลดลงเหลือประมาณ 600 ตู้ต่อวัน รวมถึงราคาทุเรียนในการส่งออกลดลง โดยปีที่แล้วอยู่ที่ 120 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) แต่ปีนี้ ลดลงเหลือ 95 บาทต่อ กก. ซึ่งต้นทุนการปลูกทุเรียน สำหรับราคาขายปลีกที่กิโลกรัมละ 100 บาท จะมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 30 - 35%
ซึ่งจากการพูดคุยกับผู้ส่งออก มีการตั้งข้อสงสัยว่าสาเหตุอาจมาจากคุณภาพเนื้อทุเรียนไม่ดีเท่ากับปีที่ผ่านมาเพราะมีฝนตกหนัก รวมถึงมีการนำเข้าทุเรียนแช่แข็งจากต่างประเทศมาจำหน่ายในไทย โดยเฉพาะการสวมสิทธิ์ทุเรียนไทย เรื่องนี้กระทบกับเกษตรกรแน่นอน เพราะราคาทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านมีราคาถูกกว่าไทย
พร้อมฝากถึงพี่น้องชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก โดยในอนาคตอยากให้ปรับตัวกับสถานการณ์ราคาทุเรียนเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งขณะนี้มีการปลูกทุเรียนทั่วประเทศไทย รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านก็มีการปลูกทุเรียนมากขึ้น โดยจีน เป็นประเทศหลักที่มีการนำเข้าทุเรียน ได้อนุญาตให้แต่ละประเทศสามารถส่งออกทุเรียนไปจีนได้ เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา ที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนสดได้ จึงทำให้ไทยมีประเทศคู่แข่งในการส่งออกทุเรียนไปจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ สปป.ลาว เนื่องจากมีรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน ทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น
ทั้งนี้ ขอเสนอให้ภาครัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดในการตรวจสอบตามด่านชายแดน โดยไทยหากจะส่งออกทุเรียนไปจีน ต้องถูกตรวจสอบสุขอนามัยพืช ตรวจการปนเปื้อนแคดเมียม และตรวจสาร BY2 แต่การนำเข้าทุเรียนมาในไทย ไม่มีการตรวจสอบ ดังนั้นจึงอยากเพิ่มมาตรการด้วยการให้มีการตรวจสุขอนามัยพืชเช่นกัน
ต้องการให้เพิ่มมาตรการสุขอนามัยพืช หากมีมาตรการที่เข้มงวดชัดเจน เหมือนที่ทางจีนไม่ลดการ์ดกับเรา ก็จะมีการลดการนำเข้าโดยปริยาย ผมเองต้องการอยากให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนใช้ทุเรียนไทยให้มากขึ้น การที่เราจะนำเข้าควรนำเข้าในจังหวะที่ของเราขาด ไม่เพียงพอ แต่ถ้าของเรายังมีและเพียงพอแบบนี้ เราควรสนับสนุนและส่งเสริมทุเรียนไทยของเราต่อไป
