"บาทแข็งค่าเล็กน้อย" เปิดการซื้อขายที่ 36.78 บาทต่อดอลลาร์
ตลาดการเงินเปิดรับความเสี่ยง หลังผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนดีกว่าคาด และมองว่าเฟดไม่ได้เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยรุนแรง เช้านี้ "บาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย"
บรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมาขึ้น โดยเฉพาะในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการที่ดีกว่าคาดของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ เช่น Tesla +9.8%
“บรรยง พงษ์พานิช” ประเมินเศรษฐกิจไทย ไม่ลงเอยแบบศรีลังกา
เช็กการเติบโต เศรษฐกิจภาคเกษตรไตรมาส 2 พืชโต-ปศุสัตว์ประมง หดตัว
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ และ หุ้นสไตล์ Growth (Amazon และ Apple +1.5%) หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากมุมมองที่คาดว่าเฟดอาจไม่ได้เร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงอย่างที่เคยกังวล
โดย CME FedWatch Tool ได้ลดลงเหลือ 27% จาก 45% ในสัปดาห์ก่อนหน้า หนุนให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.36% ส่วนดัชนี S&P500 สามารถปิดตลาด +0.99%
หุ้นยุโรปรีบาวด์ หลังคลายกังวลวิกฤตพลังงาน ECB ขึ้นดอกเบี้ย 0.5%
ตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป รีบาวด์ขึ้นราว +0.44% โดยผู้เล่นในตลาดได้คลายกังวลวิกฤติพลังงาน หลังจากที่รัสเซียกลับมาดำเนินการส่งแก๊สผ่านท่อ Nord Stream 1 อีกครั้ง ขณะที่ปัจจัยกดดันตลาดหุ้นยุโรปยังคงเป็นความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนัก จากแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลัก เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ
ล่าสุด ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็ได้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่เกิดวิกฤติหนี้ยุโรป (EU Debt Crisis)
Zipmex ลงทุนต่างประเทศเกือบ 2 พันล้านบาท เร่งคุย Babel คู่ค้ารายใหญ่สุด
KKP ดอกเบี้ยโต-ตั้งสำรองลดหนัก ไตรมาส 2 กำไรพุ่ง 50% ที่ 2,033 ล้านบาท
ตลาดบอนด์ แม้ว่าตลาดจะเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง แต่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลงต่อเนื่อง เช่น ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.5 แสนราย แย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ รวมถึง คาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 2 โดย Atlanta Fed (GDPNow) ที่จะหดตัวกว่า -1.6% แย่ลงจากประมาณการครั้งก่อนหน้า ทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับเข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 2.88% ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ของผู้เล่นในตลาดช่วงนี้ที่จะเน้นซื้อ ขาย ในกรอบ (Buy on Dip & Sell on Rally)
ตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนหนักโดยเฉพาะในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB)
ก่อนที่จะทยอยอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 106.9 จุด กดดันโดยภาพรวมของตลาดการเงินที่ทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น พร้อมกับการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ตามมุมมองของตลาดที่กังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้นและทยอยปรับลดคาดการณ์โอกาสเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง ทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรและลดสถานะถือครองเงินดอลลาร์ (ซึ่งส่วนหนึ่งอาจถูกนำไปซื้อสินทรัพย์เสี่ยงในระยะนี้) นอกจากนี้ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ พร้อมกับบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ย่อตัวลงนั้น ก็ได้หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1,717 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จากระดับต่ำสุดในรอบสัปดาห์ที่ 1,680 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นโซนแนวรับหลัก อนึ่ง เรามองว่ามีโอกาสที่ผู้เล่นบางส่วนอาจรอจังหวะทยอยขายทำกำไรทองคำจากการรีบาวด์ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจเป็นแรงหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง
มองว่าตลาดจะรอจับตาสัญญาณแนวโน้มเศรษฐกิจจากรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการ โดย S&P Global (Manufacturing and Services PMIs) ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น ฝั่งสหรัฐฯ นักวิเคราะห์มองว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทั้งภาคการผลิตและการบริการมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการที่จะลดลงสู่ระดับ 52 จุด และ 52.5 จุด ตามลำดับ (ดัชนีสูงกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว)
ซึ่งหากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาด กอปรกับข้อมูลคาดการณ์เงินเฟ้อระยะกลางในสัปดาห์ก่อนหน้าที่ลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 2.8% ก็อาจทำให้ตลาดปรับลดโอกาสที่เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงถึง 1.00% ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่กดดันเงินดอลลาร์ได้ ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดมองว่า เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง ท่ามกลางแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อ โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการอาจลดลงสู่ระดับ 51 จุด และ 52 จุด ในเดือนกรกฎาคม
ฝั่งไทย ตลาดมองว่า แม้ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงต่อเนื่อง แต่ก็มีส่วนช่วยหนุนให้ยอดการส่งออก (Exports) ในเดือนมิถุนายนยังโตราว +10% แต่ราคาสินค้าพลังงานรวมถึงผลจากการอ่อนค่าของเงินบาทกลับยิ่งหนุนให้ยอดการนำเข้า (Imports) เพิ่มสูงขึ้น +19% ทำให้ ดุลการค้ายังคงขาดดุลราว 1.2 พันล้านดอลลาร์ และเป็นอีกปัจจัยที่กดดันดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงนี้
แนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์อาจพอช่วยชะลอการอ่อนค่าต่อเนื่องของเงินบาทได้บ้าง แต่โดยรวมเงินบาทยังมีโอกาสเผชิญความเสี่ยงที่จะผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้ หากตลาดพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยง โดยหลังจากที่เงินบาทได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านสำคัญแถว 36.70-36.80 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสที่จะอ่อนค่าไปทดสอบระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ ในกรณีที่เงินดอลลาร์อาจพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น จากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด หรือ ในกรณีที่สินทรัพย์ฝั่ง EM Asia เผชิญแรงเทขาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นหากทางการจีนตัดสินใจใช้มาตรการ Lockdown เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของ COVID-19
ฃรวมถึงยังเป็นที่ราคาทองคำรีบาวด์ปรับตัวขึ้นมาบ้าง ผู้เล่นบางส่วนที่ได้เข้าไปซื้อในจังหวะย่อตัว (และเป็นโฟลว์ธุรกรรมที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าในช่วงที่ผ่านมา) อาจเริ่มทยอยขายทำกำไรราคาทองคำได้ หากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้าน 1,730-1,750 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (คิดเป็นกำไร 3%-4% จากจุดรีบาวด์) ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจพอช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง นอกจากนี้ หากตลาดทยอยเปิดรับความเสี่ยง นักลงทุนต่างชาติก็อาจกลับเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทยได้เช่นกันในระยะนี้
ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ดังจะเห็นได้จากความผันผวนของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ระดับ +2 S.D. (Standard Deviation) เราแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.90 บาท/ดอลลาร์
ที่มา : พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย
สภาพอากาศวันนี้! อุตุฯ เตือนพื้นที่เชิงเขา พื้นที่ลุ่ม เสี่ยงเจอน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก
นายกฯ รับรายงานพบผู้ติดเชื้อ "ฝีดาษลิง"สั่งวางมาตรการคัดกรอง