SCB EIC หั่นจีดีพีไทย ปี2567 ลง เหลือเติบโต 2.5%
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หั่นจีดีพีไทย ปี 67 ลง เหลือ 2.5% จาก 2.7% หลังเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเปราะบางและไม่แน่นอน
นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจโลกในปี 2567 และ 2568 มีแนวโน้มเติบโตใกล้เคียงกันที่ 2.7% ซึ่งยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19
นอกจากนี้ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ซึ่งจะทยอยฟื้นตัว เติบโตที่ 2.5% จากเดิม 2.7% โดยองค์ประกอบของเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่ปรับลดลงจากที่เคยประเมินไว้ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้า ความเปราะบางเพิ่มขึ้นในภาคครัวเรือน โดยพบว่า ครัวเรือนกลุ่มที่มีรายได้สูงขึ้นเริ่มมีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย รวมถึงปัจจัยภายในจากอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มมีสัญญาณแผ่วลง อีกทั้ง การลงทุนของภาครัฐที่แม้ว่าจะกลับมาเร่งตัวจากการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 ล่าช้ากว่าครึ่งปี แต่จะไม่สามารถชดเชยการหดตัวรุนแรงในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ได้ ส่วนปี 2568 ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่องที่ 2.9% ส่วนหนึ่งมาจากการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนและการเบิกจ่ายภาครัฐที่กลับมาเป็นปกติ
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่น่ากังวลต่อเศรษฐกิจไทย มี 3 เรื่องหลัก โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือน รวมถึงสถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น สะท้อนเศรษฐกิจไม่ดีและภาคการเงินไม่ปล่อยให้กู้ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง ซึ่งการวางนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศมีความสำคัญมาก และหนี้สาธารณะของประเทศยังอยู่ในระดับสูง และยังไม่มีความชัดเจนในการชำระหนี้
ส่วนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล มองว่า ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง แต่ช่วยได้ในระยะสั้น และจะเป็นภาระทางการคลังที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว ดังนั้น รัฐบาล ควรออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนไทยน่าจะดีกว่า
นอกจากนี้ SCB EIC ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงหนึ่งครั้งช่วงปลายปีนี้ เหลือ 2.25% และปรับลดอีกครั้ง เหลือ 2% ในช่วงต้นปี 2568 จากแรงส่งอุปสงค์ในประเทศระยะข้างหน้าที่อาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติม จากหนี้ครัวเรือนที่ยังเปราะบางและปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังมีอยู่ ภาวะการเงินตึงตัว รวมถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจในปีหน้าที่จะปรับเพิ่มขึ้น
ส่วนเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยอย่างไรนั้น สำหรับนโยบายของพรรคการเมืองที่เปลี่ยนไป ก็จะทำให้เกิดความไม่แน่นอนของนโยบายทางเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจไทยต้องการการกระตุ้นจากภาคลงทุนของนักธุรกิจ เพราะฉะนั้นหากมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นในด้านเศรษฐกิจ ก็อาจจะทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น และหันไปลงทุนกับประเทศที่มีนโยบายทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากกว่า
ศาลรธน. สั่งรวมสำนวนไต่สวนคดี 112 ในคดียุบพรรคก้าวไกล สั่งพิจารณาต่อ 3 ก.ค.
10 อันดับเมืองที่บ้านมีราคาแพงจนคนทั่วไปไม่สามารถซื้อได้อีกต่อไปแล้ว
วิเคราะห์บอล! ยูโร 2024 โปรตุเกส พบ เช็ก 18 มิ.ย.67