ค่าเงินบาทแข็ง - ค่าเงินบาทอ่อน ใครได้ ใครเสีย ?
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาท “แข็งค่า” ขึ้นมาก โดยทำสถิติแข็งค่าในรอบ 1 ปี คือวิ่งอยู่แถว 34 บาทกว่าๆ Money Trick ก็เลยจะมาเล่าให้ฟังว่า เงินบาทอ่อน หรือ แข็งนั้น ใครจะได้ ใครจะเสีย นักลงทุนควรทำอย่างไร
พูดถึงค่าเงินก็ต้องนึกไปถึงอัตราแลกเปลี่ยน เมื่อไทยมีการค้าขายกับต่างประเทศและใช้เงินสกุลแตกต่างกันประเทศคู่ค้าต้องกำหนด "อัตราแลกเปลี่ยน" ระหว่างเงินสองสกุล โดยการเทียบนั้นจะเทียบกันที่ "อำนาจซื้อที่แท้จริง" ของเงินสกุลนั้น ๆ ในการซื้อสินค้าหรือบริการและแน่นอนว่าสกุลเงินที่ใหญ่ที่สุดคือ ดอลลาร์สหรัฐ แล้วแบบไหนถึงเรียกว่าค่าเงินแข็ง

นึกภาพตามแบบนี้ หากเมื่อวานนี้ใช้เงิน 38 บาท แลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่วันนี้อัตราแลกเปลี่ยนถูกปรับเป็น 34 บาท แลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แบบนี้เรียก "ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ"
ส่วน "ค่าเงินบาทอ่อนลง" ก็มีลักษณะตรงข้าม คือ เมื่อวานใช้เงิน 34 บาท แลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่วันนี้อัตราแลกเปลี่ยนถูกปรับเป็น 38 บาท แลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ สถานการณ์นี้เรียกว่า "ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ"
แล้วเงินบาทแข็งหรืออ่อนจะมีผลกระทบกับอะไรบ้าง
- การส่งออกและนำเข้า ถ้าเงินแข็งค่าใครทำส่งออกจะได้รับผลกระทบจากการค้าขายแน่นอนโดยเฉพาะเมื่อต้องเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ เพราะ 1 ดอลลาร์ จะได้แลกคืนกลับมาเป็นเงินบาทน้อยลง แต่ถ้าเงินอ่อนส่งออกได้ประโยชน์เพราะเราจะแลกกลับมาเป็นเงินบาทได้มากขึ้น
- การท่องเที่ยว ไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวอยู่แล้ว ผลกระทบจากการที่เงินบาทแข็งค่าต่อการท่องเที่ยว คือนักท่องเที่ยวจะเดินทางมายังประเทศไทยน้อยลง แต่เมื่อเงินบาทอ่อนตัวลงก็จะมีนักท่องเที่ยวจากต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยว และใช้จ่ายในไทยมากขึ้น
- ตลาดหุ้น ค่าเงินบาทกับตลาดหุ้นนั้นมีความสัมพันธ์กัน เพราะหากเงินบาทแข็งค่า นักลงทุนจากทั่วโลกก็จะหันมาลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น และทำให้ดัชนีหุ้นของไทยสูงขึ้นด้วย เพราะนักลงทุนต่างชาติได้รับกำไร 2 ต่อ คือ กำไรจากการแข็งค่าของเงินบาท และกำไรจากการปรับขึ้นของราคาหุ้น
- เงินเฟ้อการแข็งค่าของเงินบาทจะช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพราะทำให้สินค้านำเข้ามีราคาถูกลง ในขณะที่การอ่อนค่าของเงินบาทจะเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพราะทำให้สินค้านำเข้ามีราคาแพงขึ้น
- 5. อัตราดอกเบี้ย โดยทั่วไปแล้ว หากเงินบาทแข็งค่าขึ้น ธนาคารกลางจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เนื่องจากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ในขณะที่หากเงินบาทอ่อนค่าลง ธนาคารกลางมักจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ หรือเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ
แล้วนักลงทุนควรทำอย่างไร อินโนเวสเอ็กซ์ แนะนำว่า
- หากเงินบาทแข็งค่าขึ้น นักลงทุนควรพิจารณาการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ เช่น หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ต่างประเทศ เป็นต้น
- แต่ถ้าเงินบาทอ่อนค่า นักลงทุนควรพิจารณาการลงทุนในสินทรัพย์ในประเทศ เช่น หุ้นไทย ตราสารหนี้ไทย เป็นต้น
ที่สำคัญต้องการคอยสังเกตการแข็งค่าและอ่อนค่าของเงินบาทเอาไว้ จะช่วยให้คุณรับมือและวางแผนการลงทุนได้อย่างดีที่สุด