ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.73 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.73 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” แนวโน้มวันนี้ จับตาทิศทางเงินดอลลาร์ รวมถึงราคาทองคำ (ที่อาจย่อตัวลงบ้าง)
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.73 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 33.62 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลงในลักษณะ Sideways Up (แกว่งตัวในกรอบ 33.57-33.78 บาทต่อดอลลาร์) แม้ว่า เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงบ้าง ตามการปรับเพิ่มโอกาสเฟดลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้

จากรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของสหรัฐฯ ในเดือนมกราคม จะหดตัว -0.9%m/m แย่กว่าที่ตลาดคาดไว้มาก
ทว่า เงินบาทกลับเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า หลังราคาทองคำ (XAUUSD) พลิกกลับมาปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ตามแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาด อีกทั้งแนวโน้มการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน และพัฒนาการของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ดีขึ้น ก็มีส่วนเพิ่มแรงกดดันต่อราคาทองคำ
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังตลาดทยอยคลายกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ อีกทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อก็มีแนวโน้มจะยุติลงได้ภายในปีนี้
สำหรับในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรติดตามแนวโน้มการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก และรอลุ้นผลการเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนีในช่วงสุดสัปดาห์
แนวโน้มของค่าเงินบาท
เงินบาทอาจแกว่งตัว Sideways ภายใต้ความผันผวนสูง โดยต้องจับตาทิศทางเงินดอลลาร์ รวมถึงราคาทองคำ (ที่อาจย่อตัวลงบ้าง) ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในตลาดทุนไทย อาจต้องรอลุ้นรายงานผลประกอบการบรรดาบริษัทจดทะเบียน ที่จะชี้ชะตาแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นได้
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า แม้เงินดอลลาร์จะอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า ทว่าก็อาจแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด หรือตลาดกลับมากังวลปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ (สงครามรัสเซีย-ยูเครน) และประเด็นการเมืองเยอรมนีที่อาจกดดันให้เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงได้
เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward
มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.35-34.25 บาท/ดอลลาร์
ส่วนกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.65-33.90 บาท/ดอลลาร์
ฝ่ายธุรกิจตลาดเงินและธุรกรรมระหว่างประเทศ ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเช้านี้เปิดตลาด 33.76 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากราคาปิดตลาดเมื่อวานศุกร์ที่ระดับ 33.65 บาท/ดอลลาร์ ดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบสกุลเงินหลัก หลังสหรัฐรายงานยอดค้าปลีกลดลงมากที่สุดในรอบเกือบ 2 ปีในเดือนม.ค. ซึ่งบ่งชี้ถึงการชะลอตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจในช่วงต้นไตรมาสแรก
โดยตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐลดลง 0.9% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลงเพียง 0.1% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือน ธ.ค.
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ
โดยประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศแผนการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้กับทุกประเทศที่เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ในทันที
สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 824.32 ล้านบาท และขายสุทธิตลาดพันธบัตรไทย 648 ล้านบาท
ส่วนปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2567 ของไทย สัญญาณเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดและสถานการเงินทุนต่างชาติ
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือน ก.พ. รวมถึงตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และบันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 28-29 ม.ค.
นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามการประกาศอัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีน ผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย และธนาคารกลางอินโดนีเซีย
กรอบค่าเงินวันนี้และกลยุทธ์แนะนำ
USD/THB 33.60 - 33.90
*แนะนำ ทยอยซื้อที่ 33.60/ ขาย 33.90
EUR/THB 35.10 - 35.60
* แนะนำ ซื้อ 35.10 / ขาย 35.60
JPY/THB 0.2200 - 0.2250
* แนะนำ ซื้อ 0.2200 / ขาย 0.2250
GBP/THB 42.30- 42.80
AUD/THB 21.20 - 21.70